ศาลปกครอง 15 พ.ค.- ศาลปกครองสูงสุดยืนไม่รับฟ้อง “เครือข่ายเเม่กลอง” ขอยกเลิกเเบน 3 สารเคมี เหตุผู้ฟ้องไม่มีอำนาจยังไม่มีมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายที่จะเกิดผลกระทบ
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ไม่รับคำฟ้องของ นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และเกษตรกรจากหลากหลายอาชีพ จำนวน 1,091 คน ที่ยืนฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย คณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง หรือ มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย และคณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่ให้ระงับการผลิต จำหน่าย นำเข้า ครอบครอง หรือการใช้สารเคมีป้องกันศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสเสีย และให้กลับไปเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่สามเช่นเดิม
ซึ่งศาลเห็นว่าการที่กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตราย 3 ชนิด ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาให้ความเห็นเพื่อขอให้มีการเปลี่ยนชนิดของวัตถุอันตรายดังกล่าว จากชนิดที่สาม เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่สี่ และในการประชุมครั้งที่ 41 – 9/2562 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการเปลี่ยนแปลงชนิดของวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดจากวัตถุอันตรายชนิดที่สาม เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่สี่ ตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ จึงเป็นเพียงการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เพื่อที่จะให้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย แก้ไขเปลี่ยนชนิดของวัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสเสีย จากวัตถุอันตรายชนิดที่สาม เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่สี่ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จึงยังไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะตราบใด ที่รัฐมนตรีอุตสาหกรรมยังไม่ได้มีการออกประกาศเรื่องดังกล่าว แล้วนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย ย่อมมีผลให้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ยังคงเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่สามอยู่เช่นเดิม มติดังกล่าวจึงยังไม่ได้ไปกระทบกระเทือนสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคลใด หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย จนมิอาจหลีกเลี่ยงให้แก่ผู้ใดได้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 1,091 คน จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี
ส่วนที่ขอให้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่ง กำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เพื่อให้สามารถใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดได้ต่อไปก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในเนื้อคดีนั้น เห็นว่าในชั้นนี้มีปัญหาให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเพียงว่า การที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ศาลปกครองสูงสุดจึงยังไม่อาจไม่สั่ง หรือพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอได้ .-สำนักข่าวไทย