ทำเนียบรัฐบาล 14 พ.ค. -ศบค.เผยผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 1 ราย มาจากพื้นที่เสี่ยงแต่ไม่แสดงอาการ ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยืนยันไม่ซ่อนตัวเลขผู้ป่วยไปอยู่ในโรคอื่น พบร้านตัดผมไม่ปฏิบัติตามมาตรการจำนวนมาก พร้อมนำบทเรียนเกาหลีใต้มีผู้ป่วยกลับมาพุ่งสูงขึ้นหลังผ่อนปรนเป็นกรณีศึกษา
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่าวันนี้ (14 พ.ค.) มีรายงานผู้ป่วยใหม่ 1 ราย รวมผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 3,018 ราย รักษาหาย 2,850 ราย รักษาอยู่ 112 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตคงเดิม รวม 56 ราย โดยผู้ป่วยใหม่ 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 39 ปี อาชีพรับจ้าง ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่เคยทำงานที่จังหวัดภูเก็ต โดยเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมพร้อมลูกและภรรยาเพื่อกลับเชียงใหม่ และได้รับการตรวจโรคจากเจ้าหน้าที่อสม. จังหวัดเชียงใหม่ พบติดเชื้อโควิด-19
“ต้องวิเคราะห์ว่าผู้ป่วยติดเชื้อจากเหตุใด เนื่องจากไม่มีอาการใด ๆ และเป็นคนในวัยทำงาน แต่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ถือเป็นความสามารถในการค้นหาผู้ป่วยของ อสม.ในพื้นที่ ดังนั้น ประชาชนที่ออกจากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงและไปในหลาย ๆ ที่ ถ้ามีอาการหรือต้องการเข้ารับการตรวจแม้จะไม่มีอาการก็ได้ ให้ไปตรวจได้ทันที เพราะการมาตรวจโดยเร็ว และถ้าพบติดเชื้อจะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมา มีจำนวน 19 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยใน 28 วันที่ผ่านมา มี 49 จังหวัด มี 9 จังหวัดไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อน ส่วนจังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด คือกรุงเทพมหานคร 1,531 ราย รองลงมาคือภูเก็ต 224 ราย และนนทบุรี 156 ราย
“ที่มีหลายคนสงสัยว่าไทยพบผู้ติดเชื้อน้อยอาจจะไปวินิจฉัยเป็นโรคอื่นหรือไม่ เช่น โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม ทางกรมควบคุมโรคได้เปิดเผยสถิติของโรคปอดอักเสบในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 9 พฤษภาคม 2563 พบว่าช่วงต้นปีมีผู้ป่วยจำนวนสูงและค่อย ๆ ลดลง ซึ่งเกิดจากการรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอนามัย กินร้อนช้อนตัวเอง การล้างมือ ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อโรคโควิด-19 แล้ว ยังส่งผลดีกับโรคปอดอักเสบด้วย ยืนยันว่าไม่มีการซุกซ่อนตัวเลขผู้ป่วยของโควิด-19 โดยเห็นได้จากสถิติที่ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบลดลง และยืนยันว่าจะต้องดูแลผู้ป่วยทุก ๆโรคเป็นอย่างดีเช่นกัน” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โลก พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 4,429,223 ราย เสียชีวิต 298,165 ราย สหรัฐอเมริกาพบติดเชื้อมากที่สุด 1,430,348 ราย ส่วนในกลุ่มอาเซียนและเอเชีย อินเดียมีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด 78,055 รองลงมาคือปากีสถานและสิงคโปร์ ขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับที่ 68 ของโลก ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ เกาหลีใต้มียอดผู้ติดเชื้อจากกลุ่มนักท่องเที่ยวผับย่านอิแทวอน เพิ่มขึ้นเป็น 131 ราย ล่าสุดเกาหลีใต้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 29 ราย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรวมเป็น 10,991 ราย
“ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดการระบาดขึ้นเป็นระลอกที่สอง หลังจากที่ทางการประกาศมาตรการผ่อนคลายไปก่อนหน้านี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาตรการติดตามตัวผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อกว่า 10,000 คนให้มารายงานตัวและตรวจโรคกับทางการ โดยยังมีประชาชนกว่า 2,000 คนที่ยังไม่มารายงานตัว ทั้งนี้ บทเรียนจากประเทศเกาหลีใต้น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีที่ไทยจะได้เตรียมความพร้อม” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการรับมือของเกาหลีใต้ คือการตรวจคัดกรองประชาชนรูปแบบการขับรถเข้ารับบริการตามจุด หรือ Drive Thru และจากที่พักอาศัย รวมทั้งให้โรงพยาบาลแยกพื้นที่สำหรับรักษาผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ และใช้แอพพลิเคชั่นติดตามสุขภาพ การเดินทางของผู้ที่อยู่ระหว่างการกักตัว ส่วนมาตรการผ่อนปรนของเกาหลีใต้ ให้ประชาชนดำเนินกิจการและกิจกรรมทางสังคมได้ตามปกติ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดและรักษาระยะห่างทางสังคม
โฆษกศบค. กล่าวว่า ส่วนประเทศจีนมีมาตรการการรับมือโดยกำหนดโรงพยาบาลสำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19โดยเฉพาะ อีกทั้งแจกใบอนุญาตเข้าออกชุมชนแบบจำกัดจำนวนในแต่ละวัน ให้ผู้นำชุมชนติดตามสถานะทางสุขภาพของลูกบ้านอย่างใกล้ชิด สแกนคิวอาร์โค้ดทุกครั้งที่เข้าออกสถานที่ต่าง ๆ เพื่อบันทึกประวัติสุขภาพและการเดินทาง ให้ประชาชนซื้อยาผ่านแอพพลิเคชั่นโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล ส่วนมาตรการผ่อนปรนตั้งแต่ 8 เมษายน ให้สถานที่สาธารณะบางแห่งเปิดทำการได้ และเปิดการสัญจรเข้าออกมณฑลหูเป่ยและเมืองอู่ฮั่น เพิ่มจำนวนเที่ยวรถโดยสารสาธารณะเข้าออกในกรุงปักกิ่ง และให้สถานที่ต่าง ๆ เปิดทำการ อาทิ สวนสาธารณะ ห้องสมุด สถานออกกำลังกาย ยกเว้นสระว่ายน้ำ สนามกีฬาที่มีผู้เล่นแบ่งกลุ่ม
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันนี้(14 พ.ค.) จะมีคนไทยที่ตกค้างกลับไทยจาก เยอรมนี 80 คน บังคลาเทศ 197 คน ซึ่งทั้งหมดต้องเข้ารับการกักกันในสถานที่ของรัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สำหรับผู้ที่เข้ารับการกักกันตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนถึง 13 พฤษภาคม 2563 มีเข้ารับการกักกันสะสม 18,139 คน ผู้เข้ากักกันปัจจุบัน 9,599 คน ผู้กลับบ้านสะสม 8,540 คน โดย 3 ประเทศที่เดินทางกลับมาสูงสุด ได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา
โฆษกศบค. กล่าวว่า ส่วนผู้ฝ่าฝืนการประกาศเคอร์ฟิว มีประชาชนออกนอกเคหะสถาน 557 ราย รวมกลุ่มชุมนุมและมั่วสุมจำนวน 87 ราย ขณะที่การตรวจกิจการและกิจกรรมที่ผ่อนคลาย จำนวน 22,972 แห่ง ตามมาตรการหลัก 5 ข้อ คือ ล้างมือ ใส่หน้ากาก เว้นระยะ ทำความสะอาด อย่าให้แออัด พบว่าปฏิบัติตามมาตรการ 21,400 แห่ง ปฏิบัติตามไม่ครบและได้รับคำแนะนำ 296 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.29 และมีผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.01 แต่ทั้งนี้ จากการตรวจโดยละเอียดของกระทรวงมหาดไทยในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีมาตรการเฉพาะและใช้คู่มือของกระทรวงสาธารณสุขตรวจดูในเชิงคุณภาพ เช่น ร้านตัดผม ที่จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ พบว่าร้านตัดผมไม่ปฏิบัติตามมาตรการจำนวนมาก.-สำนักข่าวไทย