พรรคประชาธิปัตย์ 3 พ.ค.- “วิลาศ” ปูด สัญญาขยายสร้างสภาฯ ใหม่ครั้งที่ 3 ผิดข้อเท็จจริง เพราะส่งมอบพื้นที่หมดแล้ว แต่กลับทำสัญญาขยายสัญญาภายหลัง ทั้งที่ต้องปรับวันละ 12.2 ล้านบาท พ่วงยกสัญญาก่อสร้าง บริษัทรับเหมาไม่สามารถเรียกค่าเสียหายจากสภาฯได้ หลังส่งฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสภาฯ 1,596 ล้านบาท
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาฯ แถลงข่าว เรื่อง “ค่าโง่การก่อสร้างสภา ใครต้องรับผิดชอบ” ว่า การต่อขยายสัญญาในการก่อสร้างสภาถึง 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 1,864 วัน มากกว่าสัญญาจริงที่ทำไว้กว่าเท่าตัว ตนจึงจำเป็นต้องออกมากล่าวหาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เหตุที่ไม่กล่าวหาบริษัทรับเหมาก่อสร้างเพราะเป็นบริษัทเอกชน ตั้งมาเพื่อค้ากำไรเป็นปกติของพ่อค้า แต่คนที่รับผิดชอบ มีหน้าที่ติดตามทักท้วง ตรวจสอบ การทุจริต หรือข้อพิรุธ ตลอดจนการก่อสร้างว่าถูกแบบแปลนหรือไม่ เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภา และเลขาฯในการขอขยายสัญญาครั้งที่ 1 เลขาธิการสภาฯ คนปัจจุบันร่วมเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ขยายสัญญาได้ 387 วัน อ้างว่ามีอุปสรรคเกิดจากสิ่งก่อสร้างและการขนย้ายดิน ขยายสัญญาครั้งที่ 2 อีก 421 วัน อ้างว่าอุปสรรคจากการขนย้ายดิน ซึ่งตนพอรับได้
นายวิลาศ กล่าวว่า แต่กลับมีการขอขยายสัญญาครั้งที่ 3 อีก 674 วัน โดยอ้างว่าส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทั้งที่ข้อเท็จจริงทางสภา ได้ส่งมอบพื้นที่โรงเรียนโยธินบูรณะ และพื้นที่ใกล้เคียงไปหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 59 แต่ในการเซ็นขยายเวลาในสัญญาครั้งที่ 3 ในวันที่ 16 ม.ค. 61 ซึ่งได้ส่งมอบที่ดินทั้งหมดไปแล้วเป็นเวลาเกือบปีครึ่ง แต่กลับมีบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมแนบท้าย การขอขยายสัญญาก่อสร้างครั้งที่ 3 ตั้งแต่ ก.พ.61 ถึง 15 ธ.ค. 62 อ้างอุปสรรคการส่งมอบที่ดิน ตนสงสัยว่าเป็นการทำสัญญาเท็จใช่หรือไม่ เพราะเหตุผลที่อ้างขยายสัญญาครั้งที่ 3 ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทั้งที่ควรจะต้องปรับบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ก่อสร้างล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญา วันละ 12.2 ล้านบาทเศษ และเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 63 บริษัทผู้รับจ้างได้ฟ้องสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 1,596 ล้านบาท โดยสภาฯรับหมายศาลวันที่ 22 เม.ย. 63 และต้องทำคำให้การเสนอภายในวันที่ 20 มิ.ย. 63
นายวิลาศ กล่าวว่า แต่จากข้อมูลสัญญาการก่อสร้างในข้อที่ 1 ระบุว่า “ในกรณีที่มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ผู้รับจ้างไม่อาจเรียกค่าเสียหายใดๆ จากผู้ว่าจ้างได้ หรือหากผู้ว่าจ้างไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และผู้รับจ้างไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากผู้ว่าจ้างได้เช่นกัน” และในข้อที่ 24.1 วรรค4 ของสัญญาการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ยังระบุว่า “ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุใด ๆ อันเนื่องมาจากความผิดหรือความบกพร่องของฝ่ายผู้ว่าจ้าง ทำให้ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาการทำการตามสัญญานี้ได้
ผู้รับจ้างจะต้องแจ้งเหตุหรือพฤติการณ์ดังกล่าวพร้อมหลักฐานเป็นหนังสือให้ผู้ว่าจ้างทราบ เพื่อขอขยายเวลาทำงานออกไปภายใน 15 วัน นับจากวันที่เหตุหรือพฤติการณ์นั้นสิ้นสุดลง ทั้งนี้ผู้รับจ้างต้องแสดงให้เห็นด้วยว่าผู้รับจ้างได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่มีผลต่อการแล้วเสร็จของงานทั้งหมด หรือบางส่วน เพื่อให้งานดังกล่าวแล้วเสร็จล่าช้าน้อยที่สุด ถ้าผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม ในวรรคก่อน ให้ถือว่าผู้รับจ้างได้สละสิทธิ์เรียกร้องในการที่จะขอขยายระยะเวลาทำงานออกไป โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น เว้นแต่กรณีเหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของฝ่ายผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีหลักฐานชัดแจ้ง หรือผู้ว่าจ้างทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น
“ผมเห็นว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างไม่มีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากผู้ว่าจ้างได้ นอกจากนี้ยังพบการก่อสร้างที่ผิดไปจากแบบแปลนไปถึง 8 กรณี เช่น การปูพื้นไม้ ตะเคียนทอง ซึ่งไม้ที่ปูจะเป็นไม้ดังกล่าวหรือไม่ ซ้ำยังปูพื้นไม้ห่างกันเป็นเซนติเมตร ชนิดงูสามารถเลื้อยผ่านได้ จึงขอให้ข้าราชการรัฐสภา ร่วมกันส่งข้อมูลรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม และขอให้ผู้ใหญ่ในสภา ที่ชอบข่มขู่ข้าราชการว่าให้ระวังเรื่องการส่งข้อมูลให้คนนอกว่า ผมจะติดตามตรวจสอบในเรื่องนี้ต่อไป” นายวิลาส กล่าว .-สำนักข่าวไทย