กทม. 30 เม.ย. – หลังมีการเลื่อนเปิดเรียนไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม และกำหนดให้เด็กต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ หรือทีวีดิจิทัล 17 ช่อง สร้างความหนักใจให้กับหลายครอบครัวซึ่งมีความพร้อมที่แตกต่างกัน และยากที่จะทำให้เด็กๆ มีสมาธิสนใจอยู่กับการเรียนบนหน้าจอโดยที่ไม่มีครู
กว่า 3 สัปดาห์แล้ว ที่น้องธัน วัย 7 ขวบ ไม่ได้ไปเรียนเปียโน เจอคุณครู และเพื่อนๆ ที่โรงเรียน เมื่อถึงเวลาคุณพ่อจะตั้งกล้องและวิดีโอคอลไปหาคุณครู ให้น้องธันเรียนรู้ทักษะการเล่นเปียโนผ่านช่องทางนี้ ระหว่างฝึกจับคอร์ดไล่สเกล และฝึกเทคนิคการเล่นสองมือ ตลอด 1 ชั่วโมง คุณครูจะคอยฟังและให้คำแนะนำอยู่เป็นระยะ โดยมีคุณพ่อคอยดูแลอยู่ข้างๆ น้องธันบอกว่า เรียนที่บ้านนั้นยาก และไม่ค่อยมีสมาธิ เพราะมีน้องๆ กวนอยู่ตลอดเวลา
หลังมีการเลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม จากสถานกาณ์โควิด-19ระบาด ทำให้การปิดเทอมครั้งนี้ขยายเวลานานออกไปอีกเดือนครึ่ง น้องธัน และน้องธีร์ น้องชายวัย 4 ขวบ จึงต้องเรียนรู้สาระวิชาต่างๆ อยู่ที่บ้าน ผ่านเว็บไซต์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด อย่างวันนี้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ผ่านการ์ตูนเรื่องเป็ดขี้เหร่
คุณพ่อ บอกว่าที่บ้านมีเด็กเล็ก 3 คน การจับพวกเขามานั่งเรียนผ่านระบบออนไลน์ หรือทีวีดิจิทัล เป็นเรื่องที่ยากมาก และอาจได้ความรู้เพียง 20% เพราะเด็กๆ ไม่ได้กลัวพ่อแม่เหมือนกับคุณครู บรรยากาศที่บ้านก็ต่างจากในห้องเรียนที่มีการแข่งขัน มีการใช้จิตวิทยาหมู่ในการดึงความสนใจให้พวกเขามีสมาธิ ขณะที่พ่อแม่ก็ต้อง Work From Home ไม่ได้มีเวลามานั่งกำกับตลอด
ขณะที่นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย บอกว่า การให้เด็กเรียนผ่านระบบออนไลน์ หรือทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว ติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 1 ชั่วโมง ในเด็กเล็กและเกิน 2 ชั่วโมงในเด็กโต จะทำให้เด็กเครียด ส่งผลกระทบทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และการเรียนรู้ในระยาว
อีกทั้งการสอนผ่านระบบออนไลน์ และทีวีดิจิทัล 17 ช่อง ควรใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถคาดหวังประสิทธิผลได้ เนื่องจากเด็กแต่ละช่วงวัย ความสามารถของพ่อแม่ และครู ก็มีบริบทที่แตกต่างกัน นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จึงเสนอให้ทยอยเริ่มเปิดเรียนในพื้นที่จังหวัด หรืออำเภอ ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยออกแบบมาตรการป้องกันการติดเชื้อ เช่น ตัวอย่างในไต้หวันให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย นั่งอยู่หลังแผงกั้นที่ทำด้วยกระดาษลูกฟูก ที่เดนมาร์กจัดให้นั่งโต๊ะห่างกัน 2 เมตร ไม่เกิน 10 คน ในแต่ละชั้นเรียน และไม่อนุญาตให้กินอาหารกลางวันร่วมกัน ส่วนที่จีน ให้นักเรียนสวมหมวกประดิษฐ์ยาว 1 เมตร ช่วยให้คุ้นเคยกับการรักษาระยะห่างทางบุคคล ในขณะที่โรงเรียนในไทยอาจกำลังมีการพัฒนาอุปกรณ์เพิ่มระยะห่างในเด็กนักเรียน หรือชีวิตวิถีใหม่ที่จะเกิดขึ้นในระบบโรงเรียน. – สำนักข่าวไทย