กรุงเทพฯ 27 เม.ย. – การบินไทยประสานขอทำโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานต่อ แม้แอร์บัสไม่ร่วมทุน เตรียมหาผู้ร่วมทุนรายใหม่แทน ยอมรับนักลงทุนต่างชาติสนใจไทยเป็นศูนย์กลางลงทุน หลังบริหารจัดการโควิด-19 ยอดเยี่ยม
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กบอ.มีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานเสนอผลการคัดเลือกเอกชนพัฒนาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเป็นผู้ชนะการคัดเลือก จากนั้นเตรียมเสนอคณะกรรมการอีอีซีชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา และเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าลงนามสัญญาร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเดือนพฤษภาคมนี้
ด้านบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยืนยันพร้อมเดินหน้าโครงการสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ต่อไป แม้แอร์บัสขอไม่ร่วมลงทุนขณะนี้ เพราะติดปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยินดีจะให้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ดังนั้น ทางการบินไทยจึงมีเวลาในการหาพันธมิตร่วมทุนรายใหม่ แม้อุตสาหกรรมการบินชะลอตัวลงในช่วงนี้ แต่จะกลับมาดีขึ้นพอดีกับการก่อสร้างเสร็จปี 2566 ซึ่งทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาตา ประเมินว่าธุรกิจการบินจะกลับมาประมาณร้อยละ 50 ภายในครึ่งปีแรกปี 2564 ดังนั้น สนามบินสร้างเสร็จปี 2566 น่าจะทันพอดีกับช่วงการกลับมาอีกครั้งของธุรกิจการบิน สำหรับเงินลงทุนจะมียอดรวม 290,000 ล้านบาท เฉลี่ยปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังจะมีการลงทุนคาร์โก้และการลงทุนที่เกี่ยวข้อง ด้านการจ้างงานในช่วง 5 ปีแรกที่เริ่มเปิดดำเนินการ ปีแรกมีการจ้างงาน 15,000 คน รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 60,000 ล้านบาท
นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองเลขาธิการ สายงานโครงสร้างพื้นฐาน กพอ. กล่าวยืนยันว่า ทุกแผนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกยังคงเดินหน้าต่อไป โดยทางกองทัพเรือลงทุนก่อสร้างแฮงก้าหรือศูนย์การซ่อมอากาศยานที่มีขนาดใหญ่สามารถรองรับเครื่องบินเข้าซ่อมพร้อมกันได้ 5-7 ลำ ระยะเวลาก่อสร้างอย่างน้อย 3-4 ปี ซึ่งทางกองทัพเรือและอีอีซี มีผู้ออกแบบเรียบร้อยแล้ว ขณะที่การบินไทยเดินหน้าลงทุนเรื่องเครื่องมือซ่อม เมื่อทางแอร์บัสไม่ร่วมลงทุน แต่พร้อมยินดีให้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยี การบินไทยจึงมีทางเลือก 2 ทาง คือ การบินไทยหาเอกชนอื่นมาร่วมลงทุนและฝ่ายบริหารการบินไทยประสานมาว่า โครงการเป็นประโยชน์ต่อการบินไทย จึงจะทำต่อ และระหว่างก่อสร้าง 3-4 ปี มีโอกาสที่ทั้งแอร์บัสและโบอิ้งจะยังสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้ สำหรับสิ่งแรกที่จะเห็น คือ การเร่งก่อสร้างที่จะใช้เวลา 4 ปีครึ่ง เสร็จปี 2567 ตัวสนามบินเสร็จ ส่วนภาครัฐ การบินไทยศูนย์ซ่อมเดินคู่ขนาน การชักจูงเอกชนลงทุนอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องก็ดำเนินการไปด้วย
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาเป็น “เมืองการบินภาคตะวันออก” พื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Passenger Terminal Building 3) ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน (Commercial Gateway and Ground Transportation Centre) ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul) เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (Cargo Village or Free Trade Zone) ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) และศูนย์ฝึกอบรมการบิน (Aviation Training Centre)
เลขาธิการอีอีซี กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าไทยต้องเผชิญปัญหาโควิด-19 แต่แผนการทำงานด้านการลงทุนยังคืบหน้าไม่หยุด หลังจากการสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ผ่านความชอบจาก ครม. การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังจะเริ่มเปิดข้อเสนอของภาคเอกชน 1-2 วันข้างหน้า เมื่อได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ไทยจะเริ่มเปิดบ้าน New Normal ทั้งการกลับมาพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว การลงทุนจนถึงสิ้นปีนี้ ยอมรับว่านักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาปักหลักลงทุนในประเทศไทย เพราะมีความเชื่อมั่นต่อระบบบริหารจัดการด้านสาธารณสุขป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นอย่างดีมีระบบ ยอดผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง นักลงทุนทั้งจีน ญี่ปุ่น อิตาลี และชาติอื่นสนใจมาก ดังนั้น เมื่อวงการแพทย์คิดค้นหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้แล้ว ไตรมาสแรกปี 2564 จะสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศได้ในครึ่งหลังปี 2564 เป็นต้นไป.-สำนักข่าวไทย