กรุงเทพฯ 27 เม.ย. – สำนักงาน กกพ.หารือ 3 การไฟฟ้า ดูแลค่าไฟฟ้าทุกครัวเรือนตามมติ ครม. 21 เม.ย.ใช้เงินรวมกว่า 2.36 หมื่นล้านบาท เงินบริหารจัดการขาด 1.1 หมื่นล้านบาท ดึงเงินล่วงหน้ามาดูแลสภาพคล่องของ 3 การไฟฟ้าอาจกระทบ
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ได้หารือกับ 3 การไฟฟ้า ในการเข้ามาดูแลลดค่าไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภาครัวครัวเรือนเพิ่มเติม ตามมติ ครม.วันที่ 21 เมษายน 2563 ที่ให้เยียวยาประชาชนที่ร่วมมือกับภาครัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทางกระทรวงพลังงานประเมินว่าจะใช้เงินรวม 23,688 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงอาจไม่สูงถึงวงเงินดังกล่าว เพราะมีการประเมินที่ซ้ำซ้อนกับมาตรการที่ช่วยเหลือไปก่อนหน้านี้ ช่วยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้มิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ใช้ไฟฟ้าฟรีเพิ่มเติมจากเดิม 50 หน่วย เป็น 90 หน่วย และของใหม่ ไม่จำกัดจำนวนหน่วย อย่างไรก็ตาม วงเงินที่ใช้จะสูงกว่าเงินบริหารจัดการของ กกพ.ที่มาจากเงินเรียกคืนฐานะการเงินและการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผนในโครงการที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่มีประสิทธิภาพ (Crawl Back) ซึ่งจะมีการประเมินบทปรับการลงทุนของการไฟฟ้าหลังจากสิ้นปีบัญชีเป็นประจำทุกปี โดยต้องใช้วงเงินในปี 2562-2563 มาดำเนินการ
ดังนั้น จึงให้ 3 การไฟฟ้าไปจัดทำการประเมินสภาพคล่องของแต่ละองค์กรจะเป็นอย่างไร และให้กลับมาประชุมร่วมเพื่อสรุปสัปดาห์นี้ โดยให้ดูถึงว่าจะได้รับผลกระทบหากต้องมีการจ่ายเงินส่วนนี้ล่วงหน้าหรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าจากพิษโควิด-19 ทำให้การใช้ไฟฟ้าปีนี้หดตัวกระทบรายได้ของการจำหน่ายไฟฟ้า โดยกระทรวงพลังงานประเมินว่าการใช้ไฟฟ้าปีนี้อาจะลดลงจากคาดการณ์ถึง 2,000 ล้านหน่วย อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 การไฟฟ้า พร้อมที่จะดำเนินการตามมติ ครม. เพื่อช่วยเหลือภาคประชาชน
“เบื้องต้นประเมินว่า วงเงินบริหารจัดการปี 2562-2563 อาจจะไม่เพียงพอ จึงให้ 3 การไฟฟ้าไปทำตัวเลขสภาพคล่องโดยรวม และหากไม่พอจริง ๆ ก็อาจจะให้การไฟฟ้าบางแห่งต้องจ่ายการประเมินฐานะการเงินที่เรียกคืนปี 2564 มาก่อน เพราะโควิด-19 กระทบภาคประชาชนอย่างหนัก การใช้ไฟฟ้าก็ลดลงด้วยก็ต้องดูภาพรวม ๆ ทั้งหมด” นายคมกฤช กล่าว
สำหรับกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงอุปกรณ์บางส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยระบุว่าเป็นการจัดซื้อที่มีราคาแพงเกินจริงจนเป็นสาเหตุทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพง เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. กล่าวว่า ตามหลักการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าแล้ว กกพ.จะกำกับดูแลการดำเนินการ เช่น ค่าใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มเกินกำหนดหรือไม่ โดยเทียบเคียงกับต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้เข้าไปดูรายละเอียดการจัดซื้อจ้างเป็นรายโครงการย่อย ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผ่านมา กกพ.จะคุมเข้มเรื่องของการใช้เงิน โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าว่าเป็นไปตามงบประมาณหรือไม่ รวมถึงบีบราคาโครงการลง เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าและผลตอบแทนการลงทุนที่สูงเกินจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงาน กกพ.ได้รายงานกระทรวงพลังงาน โดยได้จัดทำตัวเลขเงินบริหารจัดการค่าไฟฟ้าจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 พบว่า เมื่อหักมาตรการบรรเทา COVID-19 ด้วยส่วนลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 เป็นเวลา 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม) รวม 5,610 ล้านบาทไปแล้ว จะมีเงินคงเหลือประมาณ 9,159 ล้านบาท และเมื่อรวมเงินเรียกคืนฐานะการเงินปี 2561 แล้วจะมีเงินคงเหลือรวม 12,492 ล้านบาท หากหักการประเมินลดค่าไฟฟ้าตามมาตรการ ครม.วันที่ 21 เมษายนที่ 23,668 ล้านบาทแล้ว ยอดวงเงินที่ต้องการสนับสนุนจากเงินบริการจัดการที่มา 3 การไฟฟ้าจะมีประมาณ 11,175 ล้านบาท
สำหรับมติ ครม.วันที่ 21 เมษายน การช่วยเหลือผลกระทบจากโควิด-19 เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านครอบคลุมทุกครัวเรือน 22 ล้านครัวเรือน ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. มิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ จะได้ใช้ฟรีทั้งหมด 2. มิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ จะมีข้อกำหนดคือ หากแต่ละเดือนใช้มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือนกุมภาพันธ์ แต่หากใช้เกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือนกุมภาพันธ์บวกกับส่วนที่เกิน ซึ่งได้รับส่วนลดร้อยละ 50 และหากใช้เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือนกุมภาพันธ์บวกกับส่วนเกิน ซึ่งได้รับส่วนลดร้อยละ 30 โดยการลดหย่อนดังกล่าวจะมีการคืนค่าใช้จ่ายให้ในรอบบิลถัดไป.- สำนักข่าวไทย