สธ.26 เม.ย.-กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ต่อเนื่อง แต่ยังไม่พบว่าทำให้เชื้อรุนแรงและติดง่ายขึ้น ขณะที่แล็บทั่วประเทศมีถึง 124 แห่ง ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจง่ายขึ้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญพิเศษ แถลงความคืบหน้าผลการตรวจแล็บทั่วประเทศและการถอดรหัสพันธุกรรมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19
นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันใช้วิธีการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR หรือ การตรวจรหัสพันธุกรรมเฉพาะต่อเชื้อ ตรวจหาเชื้อได้แบบจำเพาะ แม่นยำ ใช้เวลาไม่นาน เป็นวิธีมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำและทุกประเทศทั่วโลกใช้วิธีนี้ ส่วนการตรวภูมิคุ้มกัน Rapid Test ใช้เวลานานถึง 7 วันถึงแสดงผล จึงถือว่าไม่ค่อยมีประโยชน์ในการวินิจฉัย ส่งผลต่อการรักษาช้า จึงไม่ใช่การตรวจหลักและการควบคุมโรค
ขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่เป็นเครือข่ายได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรม วิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว 124 แห่ง ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจ หาเชื้อได้ไม่ลำบาก ทุกแห่งมีระบบการส่งและรายงานผลแบบออนไลน์ สามารถรายงานผลได้ภายใน1 วัน พร้อมย้ำว่าการขายชุดตรวจโควิด-19ในออนไลน์ผิดกฏหมาย อย่าซื้อมาใช้ การตรวจต้องทำในสถานพยาบาลเท่านั้น รวมถึงการแปลผลต้องเป็นหมอ หรือนักเทคนิคการแพทย์ ผู้ที่มีความชำนาญ ดูประวัติคนไข้อย่างครบถ้วนถึงจะสามารถวินิจฉัยได้
อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาวิจัยตลอดเวลาเกี่ยบกับการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา2019 ซึ่งขณะนี้พบว่ามีการกลายพันธุ์ตลอดเวลาแต่ค่อนข้างช้ากว่าไข้หวัดใหญ่ ยังไม่มีนัยยะสำคัญว่าการกลายพันธุ์ทำให้เชื้อรุนแรงขึ้นและติดง่ายขึ้น การศึกษาเพื่อใช้ในการพัฒนาวัคซีนและการรักษาต่อไป
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขณะนี้การตรวจค้นหาผู้ป่วย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่มีอาการสงสัย ยังคงต้องตรวจโดยสถานพยาบาล โดยวิธี RT-PCR เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีโอกาสพบเชื้อสูง ต้องมีความแม่นยำ ในการวินิจฉัย 2.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ลงตรวจในชุมชน เพื่อสอบสวนโรคหาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อนำมาวินิจฉัยและควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ 3.การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง เช่น สถานที่แออัด กลุ่มขับรถสาธารณะ และจะมีการกำหนดสถานที่อาชีพที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อไป
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกจำนวนมากคือ กรุงเทพมหานคร จังหวัดภูเก็ต และ3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร โดยถัดจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะระบุกลุ่มและพื้นที่เสี่ยง เพื่อการลงพื้นที่ตรวจในเชิงรุกต่อไป
ด้าน ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญพิเศษ กล่าวว่า จากการถอดรหัสพันธุกรรมของผู้ป่วยเคสแรก เพศหญิง อายุ 61ปี และ 74 ปี พบว่ามีใกล้เคียงกับโคโรนาที่มาจากค้างคาวร้อยละ88 และโรคซาร์สในยุคแรกร้อยละ80 ซึ่งซาร์สกับโควิด-19มีความแตกต่างกัน การมาจับกับมนุษย์ต่างกัน ก่อโรคจึงแตกต่างกัน
นอกจากนี้ผลจากการถอดรหัสพันธุกรรมในผู้ป่วยหลายกลุ่ม พบว่า จำแนกเป็น กลุ่ม a,b,c กลุ่ม a คือสายพันธุ์ต้นตอที่ระบาดในจีนและมาจากค้างคาวโดยตรง กลุ่ม bคือสายพันธุ์ที่ระบาดนอกจีน มีการกลายพันธุ์ ซึ่งที่ระบาดในไทยจะเป็นกลุ่ม b ส่วนกลุ่ม cคือกลายพันธุ์เล็กน้อย เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในยุโรปและสิงคโปร์
เมื่อวิเคราะห์ถึงความแตกต่างกันของแต่ละสายพันธุ์ มีความแตกต่างกันเพียง1 จุด แต่ยังไม่แสดงผลว่ามีการก่อโรคที่แตกต่างกัน ในอนาคตจะร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและสภากาชาดไทยเพื่อดูการกระจายตัวและสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ให้ครบ100 ราย.-สำนักข่าวไทย