กรุงเทพฯ 21 เม.ย. – ภาคเอกชนพร้อมช่วยรัฐบาล บรรเทาปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เปรียบรัฐบาลเป็น “หยิน” ผู้ออกนโยบาย ภาคเอกชนเป็น “หยาง” รู้กลไกตลาด ร่วมหาทางออกฟื้นเศรษฐกิจ พลิกโควิด-19 ให้เป็นโอกาส
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบ True Vroom ออนไลน์ ว่า นับว่าเป็นความหลักแหลมของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ทำหนังสือเชิญผู้นำกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เปรียบรัฐบาลเสมือนเป็นฝ่าย “หยิน” เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ดูแลกฎระเบียบ กำกับและออกนโยบายมาช่วยแก้ปัญหา สำหรับภาคเอกชนเป็นเหมือน “หยาง” เนื่องจากภาคเอกชนเหล่านี้มีกลไกครอบคลุมทุกกลุ่มตั้งแต่รายย่อย ซึ่งเป็นเครือข่ายทางการค้าไล่มาจนถึงเอสเอ็มอีและผู้ร่วมทุนรายใหญ่ จึงเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการสะท้อนปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อระดมความเห็นนำทั้ง 2 ด้านมาช่วยแก้ปัญหาจะส่งผลให้การพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังปัญหาโควิด-19 ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“หลังจากนี้นายกรัฐมนตรีเตรียมพร้อมหารือร่วมกับหลายฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ผู้แทนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้แทนจากนักวิชาการ การประชาสังคมอีกหลายเวที เพื่อนำข้อมูลจากทุกฝ่าย มาร่วมสังเคราะห์ข้อมูล และร่วมกันตัดสินใจนำพาประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 ก้าวไปในทางดีที่สุด การเริ่มใช้เวลารับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายครั้งนี้ นับว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก” นายศุภชัย กล่าว
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนัดหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับบรรดาเจ้าสัว เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพื่อหาทางออกร่วมกัน และเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ เพื่อสอบถามดูว่าการแพทย์ขาดอะไรบ้าง ขณะนี้อยู่เบื้องหลังการช่วยเหลือป้องกันโควิด-19 จำนวนมาก โรงพยาบาลบางแห่งขาดเครื่องช่วยหายใจ หรือต้องซ่อมเพิ่มเติม เอกชนได้ส่งวิศวกรเครื่องมือแพทย์มาซ่อมแซม รวมทั้งห้องรักษาพยาบาล สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก โดยแพทย์ต้องปลอดภัยด้วย จึงต้องใช้นวัตกรรมใหม่ ซึ่งพิเศษมากกว่าห้องไอซียูธรรมดา จึงต้องสร้างห้องรักษาใหม่ ทุกอย่างต้องระดมทั้งเงินทุนและความคิดเห็น จึงเป็นเรื่องที่ดีในการระดมความเห็นจากทุกฝ่าย
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กล่าวว่า ผู้ประกอบการด้านดิจิทัลจัดทำยุทธศาสตร์เสนอรัฐบาล เพื่อสร้าง BigData ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อเป็นทางเลือกให้แต่ละโรงพยาบาล นำข้อมูลใช้รักษาผู้ป่วย การร่วมกันจัดทำระบบทดสอบ ไม่ให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดย้อนกลับมา สร้างความเสียหายกับภาคธุรกิจ การพัฒนาวัคซีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ประชาชน และภาคธุรกิจ
สำหรับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ กทม.และการประกาศเคอร์ฟิว ทำให้หลายหน่วยงานต้องทำงานจากที่บ้าน เพื่อให้เกิดการประชุมงาน จัดประชุมตามข้อกำหนดของบริษัทจดทะเบียน หรือประชุมด้านต่าง ๆ เดินหน้าต่อไป โดยไม่ติดขัดและถูกกฎหมายร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงเสนอให้การทำสัญญา การลงนามลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอกสาร E-Document เป็นเอกสารหลักแทนกระดาษ เพราะปัจจุบันเอกสารกระดาษเป็นเอกสารหลักในการทำสัญญา หลังจากวิกฤติโควิด-19 ควรกลับด้านให้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เอกสาร E-Document เป็นเอกสารหลักแทนกระดาษ รวมทั้งการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลอีกหลายด้านต้องให้การคุ้มครอง เพื่อผลักกันให้มีการแก้ไขกฎหมายอีกหลายด้าน.-สำนักข่าวไทย