ภูเก็ต 20 เม.ย.- จังหวัดภูเก็ตและพังงาขอบคุณกองทัพอากาศช่วยอำนวยความสะดวกชาวเลและชาวนาฝ่าวิกฤติโควิด-19 ในโครงการ “ขนข้าวชาวนา แลกปลาชาวเล” เปรียบโครงการเสมือนสายพานเศรษฐกิจชุมชนให้อยู่รอดได้ นำทรัพยากรที่มีมาแลกกัน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (20 เม.ย.) เครื่องบิน C-130 กองทัพอากาศ เดินทางถึงท่าอากาศยานภูเก็ตเรียบร้อยแล้ว พร้อมสิ่งของที่ลำเลียงมาเป็นข้าวสารจากชาวนาในพื้นที่จังหวัดยโสธรและเครือข่ายชาวนาภาคอีสาน จำนวน 9,000 กิโลกรัม เพื่อแลกเปลี่ยนกับปลาตากแห้งของชุมชนชาวเลราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต และเครือข่ายชาวเลอันดามัน จ.พังงา ในโครงการ “ขนข้าวชาวนา แลกปลาชาวเล” ฝ่าวิกฤติโควิด-19 โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนข้าวหอมมะลิ 4 กิโลกรัม ต่อปลาตากแห้ง ปลาเค็ม ปลาหวาน 1 กิโลกรัม นอกจากข้าวสารที่นำมาแลกเปลี่ยนแล้วยังมีพริกแห้งจัดส่งมาให้เพิ่มเติมจากชาวนาภาคอีสาน ขณะที่เครือข่ายชาวเลอันดามันได้นำสับปะรดภูงา จ.พังงา มอบเพิ่มเติมแก่ชาวนาภาคอีสานด้วยเช่นกัน โดยมีพลอากาศโทตรีพล อ่องไพฑูรย์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ และนาวาอากาศเอกวัชรพล นวลเป็นใย ผู้บังคับการกองบิน 21 นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ร่วมเป็นประธานในพิธีแลกเปลี่ยนข้าวสารกับปลาตากแห้ง รวมถึงพริกแห้งและสับปะรดอีกจำนวนหนึ่ง
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในนามหัวหน้ายุทธศาสตร์ภาคใต้ฝั่งอันดามัน กล่าวว่า โครงการ “ขนข้าวชาวนา แลกปลาชาวเล” ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้นจากชุมชาวเลราไวย์ ซึ่งมีประชากรราว 1,400 คน ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่จังหวัดมีมาตรการปิดเมืองปิดตำบล ชาวเลที่มีรายได้หลักจากการหาปลาก็ไม่สามารถขายปลาที่หามาได้ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว และเดินทางข้ามไปขายตลาดตำบลอื่นไม่ได้ ชาวเลที่มีรายได้จากการรับจ้างขับเรือสปีดโบ๊ท ต้องตกงานและไม่มีช่องทางหารายได้ นอกจากขอร่วมออกเรือประมงเพื่อที่จะได้ส่วนแบ่งมาเลี้ยงครอบครัว อาหารที่เทศบาลและภาคเอกชนนำมาแจกไม่เพียงพอ โครงการนี้จึงเกิดขึ้น วันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนกับข้าวของทั้งยโสธรและเครือข่ายภาคอีสาน ต่อไปก็จะเป็นภาคเหนือ โครงการนี้ถือว่าเป็นเพียงการเริ่มต้น จุดประกายให้กับประชาชน
“แม้ชุมชนราไวย์ยังออกเรือหาปลาได้ แต่พวกเขาก็ขาดพื้นที่ทางการค้า มูลนิธิชุมชนไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้เห็นปัญหาร่วมกันของชาวเลราไวย์ จึงได้หารือร่วมกับผู้นำชุมชนชาวเล ทำให้เกิดโครงการดี ๆ ขึ้น โดยชาวเลหลายพื้นที่ได้รวมกลุ่มกันในนามเครือข่ายชาวเลอันดามัน ระดมจัดทำปลาแห้งประมาณ 1,000 กิโลกรัม เน้นปลาพันธุ์ดี เช่น ปลาทูแดง ปลาทูแขก ปลาข้างเหลือง เพื่อนำไปทำเป็นปลาเค็มตากแห้ง ถนอมอาหารสามารถเก็บไว้กินได้นาน และจังหวัดยโสธรเครือข่ายชาวนาภาคอีสาน สมาคมชาวยโสธร ได้เห็นความเดือดร้อนของพี่น้องชาวเลในพื้นที่ต่างๆ จึงได้ประสานงานกัน ด้วยการส่งมอบข้าวสาร จำนวน 9 ตัน หรือ 9,000 กิโลกรัม เป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อน และถือว่าเป็นการตั้งใจให้เป็นสายพานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกครั้ง ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก แต่เป็นเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมด้วยการนำทรัพยากรที่มีมาแลกกัน เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทำให้อยู่รอดในภาวะวิกฤติ สังคมเองก็จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้”
ด้านนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า จังหวัดพังงาได้บูรณาการการช่วยเหลือประมงพื้นบ้าน โดยนำปลาเป็นปลาทะเลตากแห้งจำนวน 500 กิโลกรัมเพื่อมาแลกกับข้าวสาร วันนี้ทางกองทัพได้อนุเคราะห์ในการช่วยกระจายสินค้าของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ เป็นสับปะรดอร่อยหวานกรอบจำนวน 3,200 กิโลกรัม เพื่อนำไปที่ จ.อุบลราชธานี 2,700 กิโลกรัม และนำไปลงที่ดอนเมืองอีก 500 กิโลกรัม พี่น้องเกษตรกรดีใจที่มีโครงการในวันนี้ ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เข้ามาบูรณาการร่วมกัน.-สำนักข่าวไทย