ภูเก็ต 19 เม.ย.- ชาวเลราไวย์เร่งมือบรรจุปลาตากแห้งเตรียมส่งไปแลกข้าวกับชาวนายโสธรล็อตแรกพรุ่งนี้ หลายหน่วยงานช่วยหนุนเต็มที่ ชี้เป็นการนำร่องเปิดศักยภาพแต่ละพื้นที่มีของดีต่างกันนำมาแลกเหมือนสมัยก่อน เล็งต่อยอดสร้างแบรนด์ราไวย์ขยายตลาดบริโภค
วันนี้ (19 เม.ย.) นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ นายอำเภอเมือง และนายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลราไวย์ ลงพื้นที่เป็นกำลังใจให้กับชุมชนชาวเลราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง ที่กำลังช่วยกันบรรจุผลิตภัณฑ์ปลาตากแห้ง เพื่อเตรียมส่งไปที่จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนกับข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากสมาคมชาวยโสธร โดยกองทัพอากาศให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีในการนำเครื่องบินลำเลียง C-13 ลำเลียงข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากสมาคมชาวยโสธรที่จังหวัดภูเก็ตในวันพรุ่งนี้ (20 เม.ย.)
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทางจังหวัดภูเก็ตจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมเข้มข้น เพื่อยับยั้งการระบาดของโรค รวมถึงการปิดรอยต่อตำบลทุกตำบลทั้ง 3 อำเภอ ทำให้ลูกค้าไม่สามารถเดินทางมาซื้อปลาในชุมชนได้ ซึ่งปกติชุมชนชาวเลจะนำปลาสด ๆ ที่จับมาได้มาวางขายที่แผงปลาหน้าหมู่บ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวเลราไวย์จึงรวมตัวกันแปรรูปจากปลาสดเป็นปลาแห้งส่งไปแลกข้าวสารกับเครือข่ายทางภาคเหนือ และภาคอีสาน
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่อยู่ชายทะเลอันดามัน อาหารทะเลก็จะอุดมสมบูรณ์ ส่วนภาคเหนือภาคอีสานผลิตข้าว เนื่องจากมีพื้นที่ราบมากกว่า ดังนั้น การนำปลาของชาวเล ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณภาพไปแลกข้าว จึงเป็นแนวคิดที่ดี เหมือนกับสมัยก่อนก็มีการแลกเปลี่ยนกันแบบนี้ ถือว่าเป็นโครงการนำร่องตัวอย่าง ถ้าทำสำเร็จอาจจะขยายผลให้กว้างขึ้น
“หลังจากนี้ถ้าไม่มีการแลกเปลี่ยนข้าวสารจากทางภาคเหนือและอีสานแล้ว ทางกลุ่มชาวบ้านอยากให้ทางจังหวัดอำนวยความสะดวกในเรื่องจัดหาตลาดให้ ถ้าเป็นไปได้ทางจังหวัดจะให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดอบรมให้กับชาวบ้านเรื่องของการแปรรูป การทำเป็นแพคเกจจิ้งที่สวยงาม แล้วทำเป็นของฝากของที่ระลึกต่าง ๆ”
ด้านนายอรุณ กล่าวว่า เช้าพรุ่งนี้เทศบาลฯ ราไวย์จะนำรถมารับปลาตากแห้งจากชาวเลไปส่งที่ท่าอากาศยานภูเก็ต คาดว่าจะเดินทางออกจากพื้นที่ ต.ราไวย์ถึงท่าอากาศยานประมาณ 11.00 น. ก็จะประสานด่านตรวจต่าง ๆ ให้อำนวยความสะดวกขบวนรถที่จะนำปลาไปส่งที่สนามบินได้รวดเร็ว ทันเวลาที่กำหนด โดยจังหวัดภูเก็ตร่วมกับจังหวัดพังงาด้วยในการบูรณาการร่วมกันที่จะนำปลาตากแห้งประมาณ 1,500 กิโลกรัม ไปแลกข้าวสารกับทางจังหวัดยโสธรในล็อตแรก
“คิดว่าโครงการปลาตากแห้งน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวเลราไวย์ อาจจะพัฒนาขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ทะเลแบรนด์ราไวย์ เพราะว่าตำบลราไวย์ ถือเป็นตลาดซีฟู้ด เป็นแหล่งผลิตอาหารซีฟู้ดที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตเลยก็ว่าได้ พี่น้องประมงชาวเลก็จะหาปลาขึ้นมาขายให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยวได้บริโภค ตลาดตรงนี้จึงเป็นสถานที่ขึ้นชื่อมากสำหรับ ต.ราไวย์” นายอรุณ กล่าว.-สำนักข่าวไทย