สธ.17 เม.ย.-สธ.เผยข้อมูลผู้ป่วยและเสียชีวิตจากติดเชื้อโควิด-19 พบเบาหวานเป็นโรคประจำตัวร่วมหลัก ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลด รองลงมาความดันโลหิต ขณะนี้พบว่าอัตราตายในคนแก่สูงถึงร้อยละ 12 จึงเป็นสาเหตุที่ต้องดูแลปกป้อง ขณะที่พบว่าโควิด-19 พบป่วยในชายมากกว่าหญิง ส่วนอัตราการติดเชื้อในบุคลากรพบมากถึง 99 คน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยดีขึ้น อัตราการป่วยและเสียชีวิตถึงวันที่ 17 เม.ย.63 พบผู้เสียชีวิต 47 คน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุร้อยละ 20 หากแบ่งตามกลุ่มอายุจะพบว่ากลุ่มอายุที่เมื่อป่วยแล้วจะมีโอกาสเสียชีวิตมากสุด คืออายุ 70 ปี คิดเป็นร้อยละ 12 และถึงแม้กลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้จะ ไม่ได้ออกไปนอกบ้าน ไม่ไปตลาด แต่ก็ได้รับเชื้อจากคนในบ้าน ที่เอาเชื้อมาแพร่ จากกลุ่มคนไปตลาดหรือชุมชนที่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี ส่วนกลุ่มที่มีอัตราป่วยและเสียชีวิตรองลงมา ได้แก่ กลุ่มอายุ 50-59 ปี ร้อยละ4 กลุ่มอายุ 60-69 ปี ร้อยละ 3.7 อย่างไรก็ตามหากภายในบ้านใครมีผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปต้องดูแลให้ดี เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อป่วยจะเสียชีวิตได้สูง เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการปกป้องดูแล
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า หากมีการแยกเพศจะพบอัตราการป่วยและเสียชีวิตโควิด-19 พบว่าเพศชายมีอัตราการป่วยร้อยละ 2.7 ส่วนเพศหญิง มีอัตราป่วยร้อยละ 0.7 ส่วนอัตราการป่วยและเสียชีวิตของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับนานาชาติที่พบร้อยละ 6 ถือว่า อัตราการป่วยและเสียชีวิตของไทยต่ำกว่านานาชาติถึง 4 เท่า
ขณะเดียวกันจากข้อมูลผู้เสียชีวิต พบว่ามีโรคแทรกซ้อนสำคัญ ได้แก่ โรคเบาหวานร้อยละ 41 ความดันโลหิตสูงร้อยละ 36 ไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 18 โรคหัวใจร้อยละ 14 โรคไตร้อยละ 9 ภาวะอ้วนร้อยละ 7 และอื่นๆ ร้อยละ14 ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง แพ้ภูมิตัวเอง โดยสาเหตุที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตเมื่อป่วยโควิด-19 เพราะ โรคเบาหวาน มีผลทำให้ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง โดยน้ำตาลจะเข้าไปจับตามอวัยวะต่างๆ ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ทำงานได้ลดลง
นพ.ณรงค์ อภิกุลวาณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ขณะนี้ติดโควิด-19 ทั้งหมด 99 คน แบ่งเป็นชาย 28 คน และหญิง 71 คนในกรณีบุคลากรทางการแพทย์ มีความเสี่ยง 2 ส่วนคือใช้ชีวิตประจำวันและการให้การรักษา โดยในบรรดาของบุคลากรที่ติดเชื้อนั้น พบว่าร้อยละ 74 ติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ , ร้อยละ15 ติดจากเพื่อนร่วมงาน , ร้อยละ2 ติดจากการซักประวัติผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามอยากย้ำกับผู้ป่วยให้แจ้งประวัติที่ครบถ้วนและลดการแพร่ กระจายสู่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเอง ซึ่งหากบุคลากรติด ก็จะทำให้บุคลากรลดลง .-สำนักข่าวไทย