ก.พาณิชย์10 เม.ย.-คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เตรียมออกมาตรการพักชำระหนี้ 1 ปีให้ผู้สูงอายุที่กู้เงินจากกองทุนฯ ได้รับผล กระทบจาก โควิด-19
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ(กผส.) เป็น ประธานการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ 3/2563 วันนี้ (10 เม.ย.) ที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานสำคัญด้านผู้สูงอายุ โดยมี นาวาตรี สุธรรม ระหงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นาวาตรีสุธรรม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ นับเป็นการประชุมครั้งที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบวาระสำคัญ 2 เรื่อง
1) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่ประชุมมีมติการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ทุกคนที่กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุ เป็นระยะเวลา 1 ปี (1 เม.ย. 63 – 31 มี.ค. 64)
2) มาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติ ได้แก่
1. มิติเศรษฐกิจ ควรบูรณาการระบบบำนาญและระบบการออมเพื่อยามสูงวัย และการปฏิรูประบบการเงินการคลังที่เหมาะสม เพื่อรองรับสังคมสูงวัย อีกทั้งส่งเสริมประชากรวัยทำงานกลุ่มที่เป็นลูกจ้างและไม่ใช่ลูกจ้างเตรียมความพร้อม เพื่อการใช้ชีวิตยามสูงวัย อาทิ การสมัครสมาชิกและการออมในประชากรกลุ่มเป้าหมายต่างๆ และการให้เด็กสามารถเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติได้ โดยพ่อ-แม่ เป็นผู้ออมแทน
2.มิติสภาพแวดล้อม ควรแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีผลใช้บังคับอย่างสอดคล้อง ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. มิติสุขภาพ ควรขยายกองทุนระบบการดูแลระยะยาวให้ครอบคลุมความจำเป็นพื้นฐานทุกด้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง การกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ในการบูรณาการและขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ การบูรณาการของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล เพื่อทำหน้าที่เป็น Operation Unit และการยกระดับผู้ดูแลมืออาชีพ Formal (Paid) Care Giver รวมทั้งการจัดให้มีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพทุกอำเภอควบคู่ไปกับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care)
และ 4. มิติสังคมควรเพิ่มบทบาท อปท. ในการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ อาทิ บ้าน วัด วิสาหกิจ โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อรองรับสังคมสูงวัยในชุมชน
นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์มากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในทุกมิติ อาทิ การจัดทำบัญชีนวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยเหลือในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ(Assisted Devices)การออกระเบียบให้ อปท.ดำเนินภารกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสูงอายุ การส่งเสริมให้มีระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยเหลือดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และการสร้างนวัตกรรม การเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะการทำงานและทักษะชีวิต โดยมอบหมาย พม.โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) นำเสนอมาตรการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมต่อไป .-สำนักข่าวไทย