สธ.9เม.ย.-สธ.ปรับแนวทางการรักษาโควิด-19 เน้นป่วยมากน้อยต้องนอน โรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 2-7 วัน ส่วนการให้ยาหากพบป่วยปอดอักเสบ มากน้อย ต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์ มาลาเรีย ยาต้านไวรัสเอดส์ ส่วนกรณีสงสัยหญิงชัยภูมิติดโควิดซ้ำ แจงไม่น่าใช่ แต่เป็นซากไวรัสที่ยังตกค้างร่างกาย เนื่องจากไม่พบอาการไข้ น้ำมูกและปอดไม่อักเสบ อาจเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงการปรับแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ว่า สิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ถูกต้องกับแพทย์พยาบาล เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว และไม่เป็นอันตรายกับบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนทางแนวทางการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ต่อทุกราย ไม่ว่าอาการมากหรือน้อยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 2-7 วัน ซึ่งในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง อาการดีขึ้นต้องต้องย้ายไปที่ Hospitel หรือโรงแรมที่ดัดแปลงเป็นหอพักผู้ป่วย ที่มีทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ให้ครบ 14 วัน นับจากวัน ที่เริ่มมีอาการ ส่วนการให้ยาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงไม่ต้องรับยา ส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรง มีไข้ ปอดบวม น้อยหรือรุนแรงต้องได้รับยามาลาเรีย ร่วมกับยาไวรัสเอดส์ และยาฟาวิพิราเวียร์ ทุกคน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันมีแนวทางลดความแออัดในสถานพยาบาล นอกจากการับยาที่ร้านยาแล้วยังเพิ่มระบบวิดีโอคอล หรือ ไลน์ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่คงที่ เพื่อให้แพทย์ ได้มีการซักถามอาการ หรือมีการนัดหมายมารับการตรวจรักษาในเวลาไม่เร่งด่วน สำหรับผู้ป่วยอาการคงที่ในโรคเรื้อรังให้มีการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน และยังเพิ่มช่องทางจัดส่งยาทางไปรษณีย์ด้วย
นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีการพบผู้ป่วยหญิงชัยภูมิติดเชื้อโควิด-19และกลับมีอาการซ้ำนั้น จากการตรวจสอบพบว่าหญิงคนดังกล่าวมีประวัติเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ครั้งแรกรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในกทม.ด้วยอาการไม่มากคล้ายไข้หวัด แต่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด -19 และรับการรักษาจนครบ 14 วัน จากนั้นมีการระวังกักตนเองอย่างดีที่บ้านในจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา จากนั้นเริ่มมีอาการป่วยเมื่อต้นเดือนเมษายน เริ่มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว แต่ไม่มีไข้ แพทย์ได้ทำการตรวจสารคัดหลั่ง พบว่าเชื้อโควิด แต่จากการเอ็กซ์เรย์ปอดไม่พบอาการปอดอักเสบ อย่างไรก็ตามจากการติดตามข้อมูลเชื้อ ไม่น่าจะเป็นการป่วยซ้ำ แม้ในต่างประเทศจะพบข้อมูลผู้ป่วยซ้ำในจีนและญี่ปุ่น
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่คาดว่าไม่ใช่การป่วยซ้ำเนื่องจากว่า ผู้ป่วยคนดังกล่าว ไม่มีอาการอื่น ตรวจอัตราการหายใจก็พบปกติ 20ครั้งต่อนาที ไม่มีน้ำมูก แต่ที่ตรวจพบเชื้อเกิดจากซากของเชื้อไวรัสที่ร่างกาย ที่ยังพบได้อีกระยะหนึ่ง เช่น สหรัฐอเมริกาที่พบซากไวรัสในร่างกายได้ถึง30 วัน กรณีนี้น่าจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าซากไวรัสในร่างกายไม่สามารถแพร่เชื้อได้ ส่วนกรณีที่มีความสงสัยการรักษาเด็กเล็กวัย 1เดือนติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ เน้นการดูแลรักษาเหมือน แต่เนื่องจากเด็กเล็กต้องมีระยะกับแม่ที่ต้องใกล้ชิด โดยแม่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับผู้ปกครองที่ครอบครัวมีเด็กเล็ก เมื่อออกมาทำงานนอกบ้าน กลับถึงบ้านแล้ว จะต้องล้างมืออาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าให้สะอาด และหากมีอาการผิดปกติ ต้องแยกตัวเองและต้องไม่สัมผัสใกล้ชิดกับเด็กเลย เพื่อลดการแพร่เชื้อในบ้าน ส่วนความคืบหน้าการตรวจแบบปูพรมค้นหาในพื้นที่กทม. เหมือนจังหวัดภูเก็ตนั้น เห็นว่าการตรวจแบบนี้ มีข้อบ่งชี้ 2 ส่วน คือ 1.การตรวจเพื่อควบคุมโรค กรณีประชากรติดเชื้อมาก 2.การตรวจเพื่อเฝ้าระวัง เป็นการตรวจเพื่อค้นหาผู้ป่วยเสี่ยงสูง หลังจากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยให้เริ่มค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ นับจากวันที่ผู้ป่วยรายแรกแสดงอาการ และตรวจหากลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิด .-สำนักข่าวไทย