กรุงเทพฯ 9 เม.ย. – กรมประมงชี้แจงแนวทางปฏิบัติผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการ ชาวประมงจำเป็นต้องประกอบอาชีพช่วงเคอร์ฟิว
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ผู้ประกอบอาชีพทางการประมงที่ได้รับการยกเว้นให้ออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว มีแนววิธีปฏิบัติที่เป็นไปตามข้อกำหนด พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) ข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทย และข้อสั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ การประกอบอาชีพทางการประมงตลอดสายการผลิตที่จำเป็นจะต้องออกนอกเคหสถานไปประกอบอาชีพทางการประมงและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาเคอร์ฟิว (เวลาที่ห้าม 22.00 – 04.00 น.) โดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนช่วงเวลาได้
ทั้งนี้ ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการ ชาวประมง ขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ หรือตำรวจประจำท้องที่ การขนส่งผลผลิตทางการประมง สินค้าประมง เพื่อนำเข้าหรือส่งออก หรือส่งข้ามเขตพื้นที่หรือข้ามจังหวัดแบ่งได้ 3 กรณี คือ การขนส่งของภาคเอกชนจะต้องมีหนังสือรับรองบุคคล โดยให้ผู้ประกอบการ/นายจ้าง ของผู้เดินทางไปกับพาหนะในการขนส่งเป็นผู้ออกหนังสือรับรองให้กับผู้เดินทาง ซึ่งหนังสือดังกล่าวจะต้องระบุ ชื่อ – สกุล /เลขบัตรประจำตัวประชาชน / อาชีพ / ตำแหน่ง และระบุภารกิจ / เวลาในการเข้า – ออก และระบุต้นทาง ปลายทาง และประเภทของสินค้าให้ชัดเจน กรณีมีเอกสารเกี่ยวกับตัวสินค้าให้แนบไปด้วย การขนส่งของผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่ขนส่งผลผลิตด้วยตนเอง กรณีจำเป็นต้องให้ทางราชการออกหนังสือรับรอง ให้เจ้าหน้าที่กรมประมงออกหนังสือรับรองให้ โดยเร่งรัดบริการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างให้ได้รับผลกระทบ โดยให้ประมงจังหวัด ประมงอำเภอ และหน่วยงานของกรมประมงทุกแห่งประสานกับจังหวัด อำเภอ เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปในแนวทางและมีความสอดคล้องกัน การขนส่งสัตว์น้ำของหน่วยงานกรมประมง ให้ปฏิบัติตามแนวทางของภาคเอกชนคือ ต้องมีหนังสือรับรองซึ่งออกโดยหัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัด
“หากจังหวัดใดมีมาตรการที่เข้มงวดหรือหลักปฎิบัติที่เป็นข้อปฏิบัติ เกษตรกรและชาวประมงต้องยึดปฏิบัติตามข้อสั่งการของพื้นที่เป็นหลัก เพื่อความเหมาะสมของการบริหารจัดการแต่พื้นที่ หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสำนักงานประมงในพื้นที่ ซึ่งพร้อมช่วยเหลือและแก้ปัญหาในช่วงที่ประเทศมีวิกฤติให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน” รองอธิบดีกรมประมง กล่าว.-สำนักข่าวไทย