กรุงเทพฯ 7 เม.ย. – “พิธา” เสนอ 3 ท.- ท้องถิ่น ทรัพยากร เทคโนโลยี แก้ไฟป่าภาคเหนือ ถามรัฐบาลระหว่าง เรือดำน้ำ-เครื่องบินรบ-เครื่องบินดับไฟป่า อะไรสำคัญกว่ากัน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟป่าในภาคเหนือ และขอเป็นกำลังใจให้ชุมชน อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ผู้กำลังช่วยกันควบคุมทำแนวกันไฟและดับไฟป่าเพื่อไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ พร้อมเสนอแก้ปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืนด้วย “3 ท.” ท้องถิ่น x ทรัพยากร x เทคโนโลยี
นายพิธา กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ภัยพิบัติที่ร้ายแรงของประเทศไทย ที่กระหน่ำซ้ำเติมเข้ามาในยามที่มีภัยโรคระบาดโควิด19 วิกฤตไฟป่าครั้งนี้นอกจากจะพรากชีวิตผู้คนไปแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ทั้งการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ซึ่งภาคเหนือของไทยได้สร้างสถิติมีค่าฝุ่นอันตรายเกินมาตรฐานติดอันดับโลกเกิน 3 สัปดาห์แล้ว
นายพิธา กล่าวว่า ท.แรก ท้องถิ่น แนวคิดในการจัดการและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ คือ ให้ผู้ที่ใกล้ชิดทรัพยากรที่สุด และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรมากที่สุด เป็นผู้ดูแลทรัพยากรให้มากที่สุด ราชการที่รวมศูนย์ต้องถอยไปเป็นผู้สนับสนุน และช่วยเหลือในสิ่งที่ท้องถิ่นไม่สามารถทำได้เท่านั้น
นายพิธา กล่าวว่า ท.ที่ 2 ทรัพยากร การกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น ต้องมาพร้อมกับการกระจายทรัพยากร จากข้อเท็จจริงปัจจุบัน มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 26.97 ล้านไร่ ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีพื้นที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเพียง 10.56 ล้านไร่ มีสถานีควบคุมไฟป่า 50 สถานี มีหมู่ดับไฟ 169 ชุด มีกำลังพล 2,535 คน มีชุดปฏิบัติการดับไฟป่า 4 ชุด 60 นาย และมีเครือข่ายการแก้ไขปัญหาไฟป่า 790 หมู่บ้าน อัตรากำลังเจ้าหน้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และเข้าไม่ถึงหลายพื้นที่ ดังนั้น หน้าที่ของรัฐส่วนกลาง ในฐานะผู้สนับสนุนท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องให้อำนาจและงบประมาณอย่างจริงใจ เพื่อให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
นายพิธา กล่าวว่า ท.สุดท้าย คือ ท. เทคโนโลยี ภัยพิบัติไฟป่าในสถานการณ์ปัจจุบัน มีความรุนแรงเกินกว่าศักยภาพของชุมชนจะจัดการแล้ว แต่รัฐส่วนกลางดูเหมือนจะยังไม่ให้ความสำคัญกับการผลิต หรือจัดซื้อเทคโนโลยีระดับสูงในการดับไฟป่า ตอนนี้ชัดว่านี่คือภัยพิบัติ ที่ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เราจำเป็นต้องลงทุนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ
“เราควรทบทวนแนวคิดเรื่องความมั่นคงใหม่ เพื่อจะได้จัดลำดับความสำคัญ ระหว่างเครื่องบินดับไฟป่ากับเครื่องบินรบ เราควรจะลงทุนกับอะไรก่อน เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนอยู่ได้” นายพิธา ระบุ
นายพิธา กล่าวว่า ในสถานการณ์เฉพาะหน้า รัฐบาลต้องกล้ายอมรับว่า ทรัพยากรกับเทคโนโลยีของเรา อาจไม่เพียงที่จะจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่นี้ได้โดยลำพัง เราควรประสานขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ มีเทคโนโลยีการจัดการไฟป่า นี่ไม่ใช่เรื่องต้องกลัวเสียหน้า แต่เป็นเรื่องมนุษยธรรม และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนานาชาติท่ามกลางวิกฤต .- สำนักข่าวไทย