สธ 3 มี.ค.- สธ.แจงสถานการณ์โควิด-19 คงที่ ฉวยโอกาสนี้เร่งดำเนินการ เพื่อให้ตัวเลขผู้ป่วยลดลง ทั้งเร่งค้นหาผู้ป่วย-ผู้สัมผัส นำเข้าระบบให้เร็วเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด และการเพิ่มระยะห่างทางสังคม เผยขณะนี้ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่พบ 103 คน ครึ่งหนึ่งเป็นคนสัมผัสใกล้ชิด ผู้ป่วยเก่า
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงสถานการณ์ โควิด -19 ว่า ในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ที่เพิ่ม 103 คน สะสม 1,978 คน กลับบ้านเพิ่ม 76 คน รวมกลับบ้านแล้ว 581 คน เสียชีวิตเพิ่ม 4 คน รวมเสียชีวิต 19 คน ยังรักษาตัวอยู่ รพ.1,378 คน เมื่อดูสาเหตุปัจจัยเสี่ยงจากการสอบสวนโรค พบครึ่งหนึ่งสัมผัสคนป่วยก่อนหน้านี้ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้รายใหม่ๆ เลย ถ้านับเฉพาะคนติดเชื้อภายในประเทศก็ประมาณ 80-90 คน ส่วนที่เป็นการติดเชื้อจากนอกประเทศเข้ามาประมาณ 14-15 คน
ทั้งนี้ สถานการณ์การป่วยของไทย ถือว่าคงตัว ฉะนั้นในระหว่างนี้ ควรดำเนินการ 2 มาตรการอย่างเข้มข้น 1.การค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัส นำเข้าระบบให้เร็วเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรค และ 2.ขอความร่วมมือประชาชนในการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล สังคม ไม่ออกจากบ้านหากไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องออก ต้องสวมหน้ากากอนามัย เลี่ยงที่ที่คนแออัด เลี่ยงคนไอจาม กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่คลอง3 ปทุมธานีนั้น ต้องขอชี้แจงว่าการพบผู้เสียชีวิตในพื้นที่ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่นั้นจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่อื่น ความเสี่ยงเท่าเดิม ขอให้ประชาชนในพื้นที่อย่าตกใจ ซึ่งกรมควบคุมโรคจะส่งคนเข้าไปสอบสวนโรค และให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวทั้งคนที่สัมผัสเสี่ยงสูง โดยเฉพาะคนร่วมบ้าน คนสัมผัสเสี่ยงต่ำเป็นใครควรทำตัวอย่างไร อย่างไรก็ตามขอประชาชนอย่ากังวล โดยเกณฑ์ที่นักระบาดใช้ในการสอบสวนโรคคนสัมผัสเสี่ยงสูงคือ 1.คนที่ใกล้ชิดระยะ 1เมตรนาน 5 นาที มีการพูดคุยโดยไม่มีเครื่องป้องกัน 2.อยู่ในห้องเดียวกัน ห้องปิด กับผู้ป่วย 1 เมตร นาน 30 นาที เป็นต้น ส่วนคนที่อยู่ร่วมชุมชนมีโอกาสน้อยมาก แต่ข้อมูลตั้งแต่ที่มีการตรวจคนสัมผัสเสี่ยงสูงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นคนที่โดยสารร่วมสายการบิน นั่งรถคันเดียวกันพบว่าใน 100 คน พบว่าติดเชื้อแค่ร้อยละ 2-4 เท่านั้น
ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ผลการของประกาศให้โควิด -19 เป็นโรคฉุกเฉินทำให้เกิดการระดมทรัพยากรมาช่วยเหลือ ส่วนค่ารักษาต่างชาติมีประกันสุขภาพ ส่วนคนไทยรักษาตามประกันสุขภาพถ้าไม่มีก็มีระบบหลักประกันสุขภาพ 3 กองทุนดูแล โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งการดำเนินการรักษาพยาบาลที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลือสนับสุนจากภาคเอกชน และ ในส่วนของ รพ.สนาม วันนี้กฎหมายเรื่องการอนุญาตตั้ง รพ.สนาม เพื่อตอบสนองการควบคุมป้องกันโรคโควิดโดยเฉพาะ มีผลบังคับใช้แล้ว มีคนมายื่น 2 แห่ง อยู่ระหว่างการพิจารณา
สำหรับกลุ่มผู้แสวงบุญที่กลับมาจากประเทศอินโดนีเซียและนักเรียนเอเอฟเอสที่จะเดินทางอเมริกานั้น เบื้องต้นได้มีการนำโรงแรมบาล (Hospitel) หรือ โรงแรมที่ดัดแปลงมาเป็นสถานพยาบาลมาดูแลผู้ที่เดินทางกลับมาทั้งหมด หลังจากพื้นที่ของสัตหีบอาจไม่มีเพียงพอรองรับ .-สำนักข่าวไทย