ทำเนียบฯ 3 เม.ย.- “วิษณุ” แจงประกาศเคอร์ฟิว หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หากยังไม่สามารถลดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้ อาจจะเพิ่มเวลาจาก 6 ชั่วโมง เป็น 8-10 ชั่วโมง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ให้พกบัตรประชาชน และหนังสือรับรองจากต้นสังกัด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 2เรื่องเคอร์ฟิวทั่วราชอาณาจักร ว่า การประกาศดังกล่าวไม่ใช่การปิดประเทศ เพราะหากปิดประเทศคือการปิดสนามบิน แต่ขณะนี้ยังเปิดให้สนามบินได้ใช้งาน รองรับการบินขึ้นลง รับส่งคนที่จะเดินทาง ได้ตามปกติ แต่มีความเข้มงวดของผู้จะเดินทางเข้าประเทศ เพราะหลังจากนี้จะมีคนไทยจากหลายประเทศเดินทางเข้ามา รวมถึงนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ด้วย แต่ได้ขอให้ชาวต่างชาติชะลอการเดินทางเข้าประเทศ ไปจนถึง15 เมษายน 2563 โดยหลังจากวันที่ 15 เมษายน จะมีการทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ชี้แจงให้เข้าใจตรงกันว่า การขนส่งสินค้า ทั้งส่งออกและนำเข้ายังคงดำเนินได้ตามปกติ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับข้อกำหนดฉบับที่ 2 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการกำหนดห้ามบุคคลทุกคนทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหสถาน ที่พัก เวลา 22.00-04.00 น. รวม 6 ชั่วโมง หากใครฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากพิจารณาแล้วยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อาจขยายเวลาเป็น 8 ,10 ,12 ชั่วโมง ตามลำดับซึ่งจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
นายวิษณุ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามมีบุคคลบางกลุ่มที่จำเป็นต้องเดินทางและได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องอยู่ใต้ข้อกำหนดฉบับที่ 2 ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ จะหมายถึง แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ทำหน้าที่ในโรงพยาบาล รวมไปจนถึงคนไข้ที่ต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ,การธนาคาร เจ้าหน้าที่ขนส่งเงิน,การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค การขนส่ง แกรป ไลน์แมน ส่งอาหารได้ ,ขนส่งผลผลิตการเกษตร,ขนส่งยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์,หนังสือพิมพ์,การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง,การขนส่งพัสดุภัณฑ์,การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก,การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ , บุคคลที่ทำงานเป็นกะ เป็นผลัด โรงงานอุตสาหกรรม เวรยาม โดยบุคลที่ได้รับการยกเว้นนี้ ระหว่างเดินทางจะต้องมีเอกสารรับรองจากต้นสังกัดยืนยันได้ว่าปฏิบัติงานผ่านการรับรองจริง มีบัตรประจำตัวประชาชน และขอให้เตรียมสำเนาเอกสาร หากเจ้าหน้าที่ประจำด่านต้องการเก็บไว้ตรวจสอบ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามประกาศฉบับที่ 2 ที่เขียนว่าในกรณีที่ไม่อาจเคลื่อนย้ายบุคคลใดซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อออกไปนอกราชอาณาจักรได้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครจัดที่เอกเทศเพื่อควบคุมหรือกักกันบุคคลดังกล่าวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด คำว่าการขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศ นั้นหมายถึงบุคคลที่จะเดินทางออกนอกประเทศ ทางชายแดน เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อเดินทางไปถึงแต่ไม่สามารถเข้าประเทศได้เนื่องจากปิดประเทศ ก็ให้แต่ละจังหวัด เตรียมพื้นที่ไว้กักตัว บุคคลเหล่านั้นเป็นเวลา14 วัน โดยไม่ให้เกลับเข้ามาในเมือง และหลังจาก 14 วันสามารถปล่อยตัวให้กลับได้
นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมอาชีพที่จำเป็นที่ต้องได้รับการยกเว้น อาทิ ชาวสวนยาง อาชีพประมง ที่ต้องออกมาทำงานในช่วงดึก ซึ่งในช่วงระหว่างที่ไม่ได้รับการยกเว้นในหลายอาชีพ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารประจำด่าน หรือกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้อนุญาต
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า หากจังหวัดใดได้ออกประกาศบังคับใช้ก่อนหน้านี้ ให้ยึดตามประกาศที่มีความเข้มงวดกว่าเป็นหลัก เช่น ก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานคร ออกประกาศห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 24.00-05.00 น. ให้ยึด ในประกาศของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้ามออกตั้งแต่เวลา 22.00- และไปสิ้นสุดที่ 05.00 น. ตามประกาศของกทม. เป็นต้น และไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนออกไปทำข่าวในช่วงการประกาศเคอร์ฟิว รัฐบาลถือโอกาสใช้เวลาที่ประกาศเคอร์ฟิวทำความสะอาดบ้านเมือง และเชื่อว่าการประกาศครั้งนี้จะได้ผลทำให้การแพร่ระบาดลดลงได้.-สำนักข่าวไทย