กรุงเทพฯ 2 เม.ย. – กรมปศุสัตว์บูรณาการร่วมทุกภาคส่วนควบคุมการระบาดของกาฬโรคแอฟริกาในม้า หลังพบม้าตาย131 ตัว ใน 4 จังหวัด เร่งสอบสวนสาเหตุการเกิดโรค ย้ำเป็นโรคอุบัติใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทย ยืนยันไม่ติดต่อสู่คน ประชาชนไม่ต้องหวั่นวิตก
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness: AHS) ผ่านระบบ Video Conference กับผู้แทนจากองค์การสวนสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมม้าแห่งประเทศไทย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังโรคในม้า จากปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าซึ่งเป็นโรคติดเชื้อในตระกูล ม้า ลา ล่อ ม้าลาย สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส RNA ชนิดไม่มีเปลือกหุ้มชื่อ Reoviridae genus Orbivirus ทำให้สัตว์ที่ติดเชื้อมีไข้สูง มีอาการเกี่ยวกับระบบทางหายใจ ตายฉับพลัน ล่าสุดพบม้าป่วยตาย 4 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา 115 ตัว ประจวบคีรีขันธ์ 10 ตัว ชลบุรี 5 ตัว และเพชรบุรี 1 ตัว รวม 131 ตัว
ทั้งนี้ ที่ประชุมกำหนดมาตรการควบคุมโรคกาฬโรคโดยทำบันทึกสั่งกักสัตว์ทั้งฟาร์ม/ฝูง โดยรีบประสานด่านกักสัตว์ควบคุมการเคลื่อนย้ายทันที เก็บตัวอย่างเลือดส่งสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ให้คำแนะนำเจ้าของสัตว์ในการจัดการม้าป่วย ม้าร่วมฝูง และงดการเคลื่อนย้ายม้า รายงานการเกิดโรคผ่านระบบ e-smart surveillance ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชั่วคราวชนิดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ชนิดสัตว์ม้า ลา ล่อ อูฐ ในพื้นที่ที่พบโรค นอกจากนี้ ขอความร่วมมือในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ข้อมูลประชากรม้าและสถานที่เลี้ยงม้าของแต่ละหน่วยงาน การนำเข้า-ส่งออก ม้า ลา ล่อ ม้าลาย อูฐ การเฝ้าระวังโรคในสถานที่เลี้ยงของแต่หน่วยงาน ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมโรคจากผู้เข้าร่วมประชุม
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า วันที่พบม้าป่วยตาย 4 จังหวัดใกล้เคียงกัน จึงต้องเร่งสอบสวนหาสาเหตุการเกิดโรคและเส้นทางดำเนินโรค เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน แต่ขอให้ประชาชนอย่าหวั่นวิตก เนื่องจากเป็นโรคติดต่อในสัตว์และไม่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนา 2019 ยืนยันว่าไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ดังนั้น อย่าเชื่อข่าวลือใด ๆ ทั้งสิ้น
ส่วนม้าที่ตายสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดให้คำแนะนำเจ้าของฟาร์มกำจัดซากด้วยวิธีการที่ถูกต้องด้วยการฝังในหลุมลึก 3-4 เมตร โรยด้วยปูนขาวในหลุม จากนั้นนำม้าลงฝังโรปูนขาวทับอีกครั้ง พร้อมฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณหลุมฝัง พร้อมให้ทุกฟาร์มฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณคอก ใช้น้ำยาเช็ดตามตัวม้าเพื่อป้องกันแมลงปีกที่อาจจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่ม้าเพราะม้าอาจจะมีแผลตามผิวหนัง ทำลายแหล่งน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงดูดเลือดได้แก่ ยุง ริ้น เรือด แมลงวันดูดเลือด เป็นต้น รวมทั้งการจัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มอย่างเคร่งครัดซึ่งทำให้ขณะนี้อัตราการป่วยตายของม้าลดลงแล้ว ขอเน้นย้ำให้เจ้าของหมั่นสังเกตอาการม้าที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด ควบคุมการเคลื่อนย้าย หากพบม้าที่แสดงอาการผิดปกติให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ ที่ปรึกษาฟาร์ม และแจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-2256888 หรือผ่านแอปพลิเคชั่น DLD 4.0 เพื่อดำเนินการตรวจสอบและควบคุมโรคอย่างเร่งด่วนต่อไป.-สำนักข่าวไทย