กรุงเทพฯ 29 มี.ค. – คลังเผยยอดลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท ผ่านเว็บ “เราไม่ทิ้งกัน” ทะลุ 10 ล้านคน เตรียมตรวจสอบสิทธิ์ใครเข้าเกณฑ์โอนเงินภายใน 7 วัน
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวถึงกรณีที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ใช้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนนั้น เกิดปัญหาเนื่องจากก่อนเปิดระบบมีประชาชนสนใจรอลงทะเบียนที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com กว่า 2 ล้านคน และในช่วง 5 นาทีแรกของการลงทะเบียนมีผู้เข้ามาลงทะเบียนมากถึง 20 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มากและเกินกว่าที่ระบบจะรองรับได้ที่ 3.48 ล้านคนต่อนาที
ทั้งนี้ ทางธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบจำเป็นต้องปิดระบบการลงทะเบียนชั่วคราว และหลังจากนั้นไม่นานระบบการปฏิบัติงานได้เข้าสู่ภาวะปกติ และมีจำนวนผู้ที่สามารถลงทะเบียนผ่านเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ (29 มี.ค.63) เวลา 06.00 น. มีผู้ลงทะเบียนสำเร็จแล้ว 9.6 ล้านคน และยังเปิดให้ลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นระบบจะแจ้งผลการลงทะเบียนและสิทธิ์ตามมาตรการ ตอบกลับมายังผู้ลงทะเบียนผ่านทางข้อความ SMS เมื่อลงทะเบียนแล้ว ระบบพร้อมจ่ายเงินเยียวยาเข้าบัญชีเร็วสุดภายใน 7 วันทำการ โดยจะโอนเงินให้บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน ผ่านบัญชีธนาคารที่มีชื่อและนามสกุลเจ้าของบัญชีตรงกับชื่อและนามสกุลนำมาลงทะเบียน และขอเน้นย้ำว่าการขอรับสิทธิ์ตามมาตรการนี้ไม่ใช่วิธีมาก่อนได้ก่อน ประชาชนทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลครบทุกคน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนตื่นตัวและรักษาสิทธิ์ของตนเอง โดยทางกระทรวงการคลังขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น พร้อมจะนำปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปปรับปรุงแก้ไขกับระบบปฏิบัติการของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับนโยบายอื่นของกระทรวงเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนต่อไป
ขณะนี้มีผู้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบหรือกลุ่มมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสในช่วงวิกฤติเอารัดเอาเปรียบผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 ผ่านวิธีการต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะการเปิดเว็บไซต์ปลอม ซึ่งมีมากกว่า 44 เว็บไซต์ และพยายามแสวงหาผลประโยชน์ผ่านโซเชียลมีเดียจากมาตรการนี้ โดยอ้างว่าจะรับลงทะเบียนให้เพื่อแลกเปลี่ยนกับความสะดวก รวมทั้งขอค่าตอบแทนบางส่วนจากเงินที่ได้รับจากมาตรการช่วยเหลือนี้ ดังนั้น พี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อผู้ที่หาผลประโยชน์โดยไม่ถูกต้องเหล่านั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการนำข้อมูลส่วนตัวของท่านไปใช้ประโยชน์อื่นใดในทางที่ไม่ถูกต้อง และส่งผลให้ท่านได้รับความเสียหายทางการเงินตามมา
ทั้งนี้ อยากเตือนไปยังกลุ่มผู้มีพฤติกรรมดังกล่าว ขอให้หยุดการกระทําทันที เนื่องจากขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอย่างเข้มงวด และพร้อมจะดําเนินการตามกฎหมายทันที ซึ่งการกระทําดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําท้ังปรับ.-สำนักข่าวไทย