สะพานหัวช้าง 1ธ.ค.-เหยื่อความรุนแรงชาวออสซี่ ชวนวิ่งในแคมเปญ Beach Run For Awareness หวังปลุกพลังบวก ให้ผู้หญิงลุกขึ้นสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ปรับมุมมองสังคมไม่ตีตราผู้ถูกกระทำ
ในเวทีเสวนา “ข่มขืนกับการลุกขึ้นสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสมาคมเพศวิถี เพื่อเป็นการถอดบทเรียนการทำงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การลุกขึ้นสู้เพื่อความถูกต้อง ของผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง ในระดับสากลกับประเทศไทย
น.ส.แคลร์ เม็คฟาเลน (Claire Mcfarlane) นักรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เปิดเผยว่า เคยเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ เหตุการณ์เกิดขึ้นปี1999 ตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาในปารีส ต้องทำงานส่งตัวเองเรียน โดยทำงานในบาร์แห่งหนึ่ง วันนั้นหลังจากเลิกงานประมาณ 03.00 น.เดินกลับบ้านตามปกติ แต่เจอคนแปลกหน้าเข้ามาทำร้าย และถูกข่มขืน ทั้งทุบตี และใช้มีดกรีด ถูกทำร้ายอย่างหนักบาดเจ็บสาหัส รักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 เดือน แม้แจ้งความกับตำรวจไว้แต่คดีไม่คืบหน้า ไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้ จนผ่านมากว่า10 ปี ตำรวจบอกว่าเจอตัวคนร้ายที่ก่อคดีเพราะ DNA ตรงกับที่เคยไปแจ้งความไว้ อีกทั้งคนร้ายรายนี้ไปก่อคดีกับคนอื่น ขณะนั้นตนอยู่ที่ออสเตรเลียต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ในการเดินทางเพื่อดำเนินคดีที่ปารีส
น.ส.แคลร์ กล่าวอีกว่า จากบทเรียนชีวิตครั้งนี้ได้ผันตัวเองมาทำงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงเพราะเห็นถึงปัญหาที่กระทบต่อตนเองโดยตรง อีกทั้งสังคมยังตีตราผู้หญิงที่ถูกข่มขืนเป็นผู้หญิงไม่ดี ถูกทำให้ อับอาย ตนจึงอยากส่งเสียงให้ผู้ถูกกระทำด้วยกัน ลุกขึ้นมามีพลัง กล้าส่งเสียงบอกถึงปัญหา สร้างความตระหนัก สร้างสำนึกให้สังคม ไม่ตีตราผู้ถูกกระทำ ผ่านกิจกรรมปลุกพลังด้วยการวิ่งรณรงค์ บนชายหาด (Beach Run For Awareness) โดยจะเริ่มวิ่งที่หาดบางเทา จ.ภูเก็ต ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตามกิจกรรมนี้ได้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.และ ตั้งเป้าจะวิ่งใน 184 ประเทศทั่วโลกเพื่อให้ได้ระยะทางรวม3,000 กิโลเมตร
ทั้งนี้อยากเชิญชวนประชาชนที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย การวิ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเยียวยาด้านจิตใจและด้านร่างกาย ทำให้หลุดพ้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นและทำให้มีพลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และสามารถทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงทางเพศและเครือข่ายสังคมได้มีส่วนร่วมมาเรียนรู้ ทำความเข้าใจปัญหา สร้างความสามัคคีให้เครือข่ายได้เข้มแข็ง
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาการถูกข่มขืนของไทยไม่ต่างไปจากทั่วโลก สะท้อนจากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศในรอบปี2558 จากหนังสือพิมพ์14 ฉบับ พบว่ามีข่าวความรุนแรงทางเพศแทบทุกวัน จำนวนรวมทั้งหมดถึง 306 ข่าว มากที่สุดคือข่าวข่มขืนรุมโทรม 224 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 73.2และมีผู้ที่เสียชีวิตถึง20ราย คิดเป็นร้อยละ 60 อาชีพของผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เกินครึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษา
สำหรับปัจจัยกระตุ้นมาจากมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้องร้อยละ 30 รองลงมามีปัญหาการยับยั้งอารมณ์ทางเพศร้อยละ 23.3 ที่น่าตกใจคืออายุผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 1-20ปี และน้อยที่สุดคือ1ปี 8 เดือน ทั้งนี้ผู้กระทำร้อยละ 46 เน้นกระทำกับคนใกล้ชิดและรู้จัก
“ผู้ถูกกระทำจะเกิดผลกระทบทั้งหวาดผวา ระแวง ซึมเศร้า สูญเสียทรัพย์ ถูกบังคับมีเพศสัมพันธ์หลายครั้ง หลายรายถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกทำร้ายร่างกายสาหัส ซึ่งปัญหาความรุนแรงทางเพศสะท้อนวิธีคิดจากระบบชายเป็นใหญ่ คือ ใช้อำนาจบังคับเพศที่มีอำนาจน้อยกว่า ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดผู้ชาย ความคิดโดยรวมของสังคม ส่วนผู้หญิงก็ต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ และที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมต้องเดินหน้าอย่างเข้าใจ ตำรวจต้องรับแจ้งความไม่ใช่ให้ไกล่เกลี่ยอย่างเดียว
ทั้งนี้ มูลนิธิฯ และเครือข่ายผู้หญิงขอเป็นกำลังใจและสนับสนุนการณรงค์ของคุณแคลร์เพราะจะทำให้ผู้หญิงเกิดแรงบัลดาลใจลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง อีกทั้งประเทศต่างๆที่ไปวิ่งรณรงค์จะได้ตระหนัก เข้าใจผู้หญิงที่ถูกกระทำและสนับสนุนผู้หญิงกลุ่มนี้ให้ลุกขึ้นมายืนในสังคมได้” นายจะเด็จ กล่าว.-สำนักข่าวไทย