ก.พลังงาน 13 มี.ค. – ผลกระทบ Covid-19 อาจส่งผลให้ส่งเครื่องจักรไม่ได้ ก.พลังงานส่อแววเห็นชอบเลื่อน COD โรงไฟฟ้าชุมชนครึ่งปี พร้อมร่วมแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ขาดตลาด นำเอทานอลส่วนเกิน 1 ล้านลิตร/วัน มาผลิต โดยให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายติดต่อสรรพสามิตโดยตรง ย้ำราคาน้ำมันขึ้นลงตามราคาตลาดโลก แก๊สโซฮอล์ต่ำสุดในรอบ 11 ปี
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงว่ากรมสรรพสามิตและกระทรวงพลังงานได้ร่วมกันปลดล็อกในการนำเอทานอลส่วนเกินความต้องการผลิตน้ำมันประมาณกว่า 1 ล้านลิตรต่อวัน มาผลิตแอลกอฮอล์ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนและมีราคาสูง เนื่องจากประชาชนมีความต้องการใช้ เพื่อนำมาป้องกันโรค Covid-19 โดยกรมสรรพสามิตเห็นชอบตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 13 มีนาคม 2563 ไปยังกรมสรรพสามิตให้พิจารณาอนุญาตนำเอทานอลไปผลิตเจลล้างมือได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงาน เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นสถานการณ์เร่งด่วนและมีปริมาณเอทานอลสำรองเพียงพอในการใช้ในภาคพลังงานและเพียงพอสำหรับผลิตเจลล้างมือได้ โดยขอให้กรมสรรพสามิตมีการรายงานสรุปปริมาณที่อนุญาต เพื่อกระทรวงพลังงานจะได้ติดตามสถานการณ์การผลิตเอทานอลให้สมดุลต่อไป
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กรมสรรพสามิตระบุการจะนำเอทานอลมาผลิตแอลกอฮอล์ต้องขออนุญาตจากกระทรวงพลังงานก่อนแล้วจึงขออนุญาตจากกรมสรรพสามิต ดังนั้น เมื่อปลดล็อกไม่ต้องแจ้งกระทรวงพลังงานแล้วขั้นตอนก็คือ ทางผู้ประกอบการเจลล้างมือในพื้นที่ใด ๆ หากต้องการใช้เอทานอลก็ให้ไปแจ้งสรรพสามิตในพื้นที่ เมื่อได้รับอนุญาตและรับทราบปริมาณแล้วก็ไปแจ้งซื้อกับโรงงานเอทานอล ทางโรงงานเอทานอลก็ต้องไปแจ้งขออนุญาตสรรพสามิตในพื้นที่ แล้วเมื่อได้รับการอนุมัติ ก็สามารถซื้อขายระหว่างกันได้ โดยขณะนี้มีเอทานอลส่วนเหลือจากการผลิตเชื้อเพลิงกว่า 1 ล้านลิตรต่อวัน จึงมั่นใจว่าจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแอลกอฮอล์ได้ ส่วนเรื่องราคาก็เป็นเรื่องที่ทางเอกชนจะตกลงกันเอง ไม่ใช่ราคาแนะนำเอทานอลแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ขอชี้แจงว่าถึงการที่มีผู้เสนอนำสตอกเอทานอล 100 ล้านลิตร มาผลิตแอลกอฮอล์ว่า สตอกดังกล่าวมีไว้เพื่อที่นำมาผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นสตอกเพื่อความมั่นคง และเป็นคนละเกรดกับการนำมาผลิตเจลล้างมือ การนำเอทานอลมาจำหน่ายเพื่อผลิตเจลล้างมือเป็นเอทานอลส่วนเกินความต้องการในการผลิตน้ำมันเท่านั้น โดยปัจจุบันโรงงานเอทานอลทั้ง 26 แห่ง มีกำลังผลิตติดตั้ง 6.275 ล้านลิตรต่อวัน ปริมาณการผลิตจริงเพื่อมใช้ในการผสมน้ำมันอยู่ที่ 4.763 ล้านลิตรต่อวัน กำลังผลิตส่วนเกินจึงอยู่ที่ 1.512 ล้านลิตรต่อวัน
รมว.พลังงาน ยังกล่าวด้วยจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงอย่างรวดเร็ว กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ แล้วพบว่าผู้ค้าน้ำมันได้ปรับลดราคาสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบที่ลดลง โดยการลดราคาขายปลีกมีการปรับลด 5 วันต่อเนื่อง กลุ่มเบนซิน ลดลง 3 บาทต่อลิตร และกลุ่มดีเซลลดลง 2.10 บาทต่อลิตร โดยการปรับราคานอกเหนือจากดูถึงเนื้อน้ำมันแล้ว ต้องดูถึงอัตราแลกเปลี่ยน และสตอกด้วย โดยราคาดีเซลที่ลดลงน้อยกว่าก็เป็นผลมาจากการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อดูถึงการบริหารเงินเพื่อเสถียรภาพระยะยาว รวมไปดึงการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งหลังปรับราคาพรุ่งนี้ ราคาน้ำมันเบนซิน 95, ไบโอดีเซล บี 7 และดีเซลพรีเมียม ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ส่วนกลุ่มแก๊สโซฮอล์ต่ำสุดในรอบ 11 ปี โดยอี 20 ราคาอยู่ที่ 18.74 บาทต่อลิตร อี 85 ราคา 16.49 บาทต่อลิตร
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเปิดรับฟังความเห็นหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนระยะเร่งด่วน (QUICK WIN ) กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ ว่า เอกชนมีความเป็นห่วงหลังเกิดการระบาดของโรค Covid-19 อาจทำให้การส่งมอบเครื่องจักร โดยเฉพาะจากจีนล่าช้า ดังนั้น กระทรวงพลังงานกำลังติดตามสถานการณ์ หากเกิดผลกระทบจริงก็อาจจะเลื่อนระยะเวลากำหนดการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ออกไปประมาณครึ่งปี จากเดิม COD โครงการเร่งด่วนจะเข้าระบบ สิ้นปี 2563 และโครงการทั่วไปอีก 600 เมกะวัตต์จะเข้าระบบสิ้นปี 2564 ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดประกาศให้เอกชนสมัตรควิกวินได้ภายใน เดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทั้งต่อชุมชน การลงทุนช่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้นับหมื่นล้านบาทในปีนี้. -สำนักข่าวไทย