กรุงเทพฯ 13 มี.ค.- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปรับแผนรองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้กับข้าราชการ-ครอบครัว รวมทั้ง ประชาชน
พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชุมคอนเฟอเรนซ์ไปยังตำรวจทั่วประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งการประชุมวันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพิจารณาปรับแผนรับมือ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิติดเชื้อโควิด-19 จนทำให้หลายภาคส่วนกังวลในการปฎิบัติหน้าที่ด่านแรก
ภายหลังการประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง พันตำรวจเอกเชิงรณ ริมผดี รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 หลังจากมีการประกาศราชกิจจานุเบกษายกเลิกวีซ่า ประเทศจีน เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี และ 2 เขตปกครองพิเศษ มาเก๊า และ ฮ่องกง ทำให้ผู้ที่จะเดินทางจากประเทศเหล่านี้จะต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตเข้าประเทศไทย คือ มีใบรับรองแพทย์ และ ข้อมูลการกักตัว และต้องนำเอกสารดังกล่าวมายื่นให้สถานฑูตและสายการบินพิจารณา ก่อนจะอนุญาตให้เข้ามาในประเทศ โดยเชื่อว่าหากใช้มาตราการนี้จะทำให้ความเสี่ยงของบุคคลที่มีเชื้อโควิด-19 เข้ามาในประเทศลดน้อยลง ส่วนคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง จะผ่านการตรวจคัดกรองโรคอย่างละเอียด ก่อนนำส่งกลับภูมิลำเนา กักตัวที่บ้าน 14 วัน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนตำรวจจะสนับสนุนการปฎิบัติงานทุกกรณี ซึ่งหากฝ่าฝืนก็จะมีความผิดตามกฎหมายต่อไป
พันตำรวจเอกจิรายุ วิสูตรานุกูล อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.ตำรวจ ให้ข้อมูลว่าในส่วนของโรงพยาบาลตำรวจได้เตรียมพื้นที่สำหรับการรองรับตำรวจ-ครอบครัวตำรวจ และ ประชาชน ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยมีการจัดเตรียอมห้องคัดแยกเพื่อป้องกันการปะปนและแพร่กระจายโรค เตรียมแผนสำรองหากมีผู้ป่วยเพิ่มก็จะขยายห้องเพิ่ม โดยจะมีการจัดลำดับตามความสำคัญ เพื่อความดูแลที่เหมาะสม ส่วนค่าใช้จ่ายเป็นไปตามสิทธิการรักษาทั่วไปของผู้ป่วยแต่ละคน แต่ทางรัฐมีการจ่ายค่าใช้จ่ายในการส่งเชื้อตรวจในห้องแล๊ป (สำหรับผู้ป่วยที่ต้องสงสัยโควิด 19 )
พลตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงมาตราการปราบปรามจับกุม ผู้ที่กระทำความผิดซึ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนในช่วงสถานการณ์โรคระบาด โดยได้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก
การจับกุมเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ซึ่งสามารถจับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยเกินราคา การกักตุนสินค้า การขายที่ไม่ด้อยคุณภาพ สามารถจับกุมได้แล้ว 88 รายมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท โดยยึดหน้ากากอนามัยได้กว่า 2 แสนชิ้น และ ส่วนที่ 2 การนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จในโซเชี่ยล ซึ่งตำรวจสามารถจับกุมได้หลายคดีแล้ว มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
สำหรับประเด็นที่ประชาชนสงสัยเรื่องหน้ากากอนามัยของกลางที่ตำรวจยึดได้ให้นำมาแจกประชาชน พลตำรวจเอกกฤษณะ ระบุว่า หน้ากากอนามัยถือเป็นของกลางในคดีอาญา แม้ยึดมาได้กว่าแสนชิ้น ก็ไม่สามารถใช้การได้ เพราะสิ่งที่ยึดไว้จะต้องรอให้มีคำสั่งศาลให้ถึงที่สุดก่อน ถึงจะดำเนินการในขั้นถัดไปได้
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินคดีกับนายบอย ที่โพสต์ข้อความอ้างว่ามีหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น ยืนยันว่าตำรวจอยู๋ระหว่างการสอบสวนทำคดีอย่างถึงที่สุดไม่มีมวยล้มต้มคนดูแน่นอน หากสืบสวนพบว่ามีการกักตุนหน้ากากอนามัยจริงและมีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องก็จะดำเนินคดีทันที ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือใครก็ตาม
ส่วนกรณีที่ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่อยอาชญากรรมนำหลักฐานมามอบเมื่อวานนี้ (12 มี.ค.) ว่ามีบริษัทเอกชน 14 บริษัท 1 ที่ปรึกษานักการเมือง และพรรคการเมืองต่างๆ เกี่ยวข้องกับขบวนการที่ทำให้หน้ากากอนามัยขาดตลาด เรื่องดังกล่าวพลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างการพิสูจน์ข้อเท็จจริงซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการตรวจสอบยืนยันว่าไม่เกี่ยวว่าผู้เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือใครก็ตาม หากมีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และคงไม่สามารถเปิดเผยเรื่องนี้อย่างละเอียดได้เพราะจะกระทบต่อการทำงานของตำรวจ
สำหรับประเด็นที่ลูกสาวอดีต ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐ ที่ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พันตำรวจเอกกฤษณะ มองว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่สามารถไปก้าวก่ายได้ อยากให้มองการงานในภาพรวมมากกว่า ยืนยันว่าทุกหน่วยมีความตั้งใจในการปฎิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 .-สำนักข่าวไทย