กรุงเทพฯ 10 มี.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งเพิ่มความเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริการในสุกร ย้ำเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคที่ปลอดการระบาด ทำให้คงมูลค่าจากการเลี้ยงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 150,000 ล้านบาทได้
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) แห่งชาติ ครั้งที่ 2 โดยกล่าวว่า ไทยสามารถป้องกันไม่ให้ ASF แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศได้ ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการระบาดเกือบทั้งหมด การประชุมวันนี้กำชับทุกหน่วยงานให้เตรียมรับสถานการณ์อย่างเข้มงวดระดับวาระแห่งชาติ โดยประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อติดตามสถานการณ์แนวโน้มการระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด แล้วนำมาวางแผน กำหนดนโยบาย รวมถึงมาตรการเตรียมพร้อมป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรค จัดตั้ง war room ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนมาตรการและซ้อมแผนรับมือโรคทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตลอดจนเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัย
สำหรับมาตรการป้องกันนั้นได้ประกาศระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศที่มีการระบาดของโรค บูรณาการทุกภาคส่วนในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรเข้ามาในประเทศ ส่วนมาตรการการเฝ้าระวังได้พัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงพื้นที่ (S-MCDA) มาใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงพื้นที่ในระดับตำบลเพื่อแจ้งเตือนภัยแก่เกษตรกรในพื้นที่ พร้อมทั้งใช้ในการจัดสรรทรัพยากร ได้แก่ งบประมาณ เจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์เพื่อเฝ้าระวังได้อย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ X-Ray เคาะประตูบ้าน เฝ้าระวังทางอาการ ขึ้นทะเบียนและประเมินความเสี่ยงด้วย แอปพลิเคชั่น “e-SmartPlus” วิเคราะห์ความเสี่ยงของโรครายฟาร์มของเกษตรกร พร้อมให้คำแนะนำทุกฟาร์ม
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ภาครัฐและเอกชนร่วมจัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังป้องกันโรค ASF ที่นำไปปฏิบัติได้มีประสิทธิภาพ จัดทำโรงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรคที่ด่านชายแดนที่สำคัญ 6 แห่ง มอบให้ภาครัฐ สนับสนุนเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและน้ำยาฆ่าเชื้อ และค่าจ้างเจ้าหน้าที่ในการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ให้ความรู้เรื่องโรคและการป้องกันโรคแก่เกษตรรรายย่อย ขอความร่วมมือภาครัฐรับซื้อสุกรจากรายย่อยที่มีความเสี่ยงในราคาตลาดอย่างเป็นธรรม แล้วนำมาเชือดเพื่อแปรรูปหรือปรุงสุกขึ้นกับการประเมินความเสี่ยงเพื่อป้องกันโรค อีกทั้งเข้มงวดการส่งออกสุกรตามมาตรการลดความเสี่ยง จากการดำเนินการที่ผ่านมาทำให้ไทยได้รับการยอมรับและเชื่อถือในระดับนานาชาติว่า มีระบบเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคระบาดสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ ประเทศคู่ค้ามีความเชื่อมั่นและยอมรับในมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ไทย
“การที่ไทยดำเนินมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดมากนั้น ป้องกันความเสียหายแก่เกษตรผู้เลี้ยงสุกรและอุตสาหกรรมการผลิตสุกรที่มูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 150,000 ล้านบาท อีกทั้งสร้างโอกาสในการส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรมูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าปศุสัตว์อื่นของไทย โดยเฉพาะไก่เนื้อทำให้มีมูลค่าส่งออกรวมทั้งสิ้นมากกว่า 200,000 ล้านบาท” นายเฉลิมชัยกล่าว
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันโรค ASF ตั้งแต่พบการระบาดในจีนเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ปัจจุบันพบการระบาดทั้งหมด 3 ทวีป 30 ประเทศ โดยรายงานความเสียหายในจีนและเวียดนาม ซึ่งมีการเลี้ยงสุกรมาก พบว่าในจีนแพร่ระบาดเกือบทุกมณฑลต้องทำลายสุกรมากกว่า 200 ล้านตัว เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสุกรอย่างมาก ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรสูงขึ้นถึง 40% เกิดการแย่งซื้อเนื้อสุกรของประชาชน ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ต้องปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ ส่วนที่เวียดนามแพร่ระบาดในทุกจังหวัด ทำลายสุกรไม่น้อยกว่า 6 ล้านตัว สำหรับไทยนั้น ตั้งแต่เกิดการระบาดที่จีนจนถึงขณะนี้เป็นระยะเวลากว่าปีครึ่ง ทุกหน่วยงานได้ปฏิบัติมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ทำให้ไม่มีการแพร่จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา ซึ่งช่วยป้องกันความเสียหายต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย