นนทบุรี 9 มี.ค. – พาณิชย์เชิญภาคเอกชน ทั้งห้างค้าปลีก สายการบิน แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง ร่วมกันระบายผลไม้ เพื่อป้องกันปัญหาราคาตกต่ำ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุม “มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2563” โดยผลไม้ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดและจะออกมากเดือนเมษายนนี้ ซึ่งปีนี้ คาดว่าผลผลิตรวมทุกชนิดจะออกประมาณ 3 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน ประมาณร้อยละ 10 ดังนั้น จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ไปรษณีย์ไทย ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก และร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ทั้งเซ็นทรัล ซีพีออล์ บิ๊กซี และแม็คโคร ผู้แทนสายการบิน เช่น นกแอร์ ไทยสมายล์ และการบินไทย ผู้แทนสถานีบริการน้ำมัน เช่น ปตท. บางจาก และพีทีจี แพลตฟอร์มออนไลน์ ลาซาด้า และช้อปปี้ รวมถึงสมาคมต่าง ๆ เช่น สมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย และสมาคมภัตตาคารไทย
อย่างไรก็ตาม 9 ข้อสรุปและลงนามร่วมกันในการบริหารจัดการผลไม้ปีนี้ เพื่อไม่ให้เกษตรกรประสบปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ ได้แก่ 1.การเร่งรัดตรวจรับรองสวนผลไม้ ตามมาตรฐาน GAP เพื่อผลักดันการส่งออก รวมถึงหาแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนเข้ามาช่วยเสริม 2.การตั้งศูนย์บริหารจัดการผลไม้ในแต่ละภูมิภาค 3.การกระจายทั้งในและต่างประเทศผ่าน ตลาดค้าปลีก – สายการบิน ให้ขึ้นเครื่องฟรี 20 กิโลกรัม – การโรดโชว์ส่งเสริมการขายบริโภคผลไม้ไทย 4. การขายผลไม้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ 5.การจัดเทศกาลผลไม้ในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค
6.มาตรการสภาพคล่อง ช่วยผู้ส่งออกชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดต้นทุนและส่งเสริมให้มีการส่งออกมากยิ่งขึ้น รวมถึงสหกรณ์การเกษตร ที่รวบรวมผลไม้ในประเทศ จะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป็นเวลา 10 เดือนเพื่อช่วยให้การรวบรวมผลไม้ไปกระจายได้ดียิ่งขึ้น 7.มาตรการดูแลล้งที่รับซื้อผลไม้ ไม่ให้มีการกดราคา และย้ำให้ติดป้ายแสดงราคาชัดเจนเป็นธรรม 8.ในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ ขอความร่วมมือให้การบินไทยเข้ามาช่วยเสริมในเรื่องของคาร์โก้ เพื่อให้การส่งออกผ่านระบบเครื่องบินไปยังต่างประเทศสะดวกคล่องตัว และ9.มาตรการสุดท้าย กระทรวงเกษตรฯ จะจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังผลกระทบ จากสินค้าการเกษตรที่เกิดจาก COVID-19 โดยผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถให้ข้อมูลและขอความช่วยเหลือห้องเรียนได้ที่ www.nabc.go.th ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.-สำนักข่าวไทย