กยท.รณรงค์กำจัดโรคใบร่วงยางพารา

กรุงเทพฯ 6 มี.ค. – กยท.จัดโครงการคืนน้ำยางกลับสู่ต้น ถ่ายทอดเทคโนโลยีป้องกันกำจัดโรคใบร่วงในยางพารา นำร่องนราธิวาส 9 มี.ค.นี้


นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้อำนวย การการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า วันจันทร์ที่ 9 มีนาคมนี้จะร่วมกับจังหวัดนราธิวาสจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตามโครงการคืนน้ำยางกลับสู่ต้น โดยจะแนะนำสารป้องกันกำจัดเชื้อรา สาธิตวิธีการฉีดพ่นทั้งบริเวณทรงพุ่มและพื้นสวนที่มีเชื้อราสะสมอยู่ พร้อมกันนี้จะมอบวัสดุอุปกรณ์อุดหนุนเกษตรกรและสถานบันเกษตรกรยางพารา ได้แก่ เครื่องฉีดพ่นแรงดันสูงและวัสดุอุปกรณ์ป้องกันกำจัดเชื้อรา 


ทั้งนี้ กยท.กำหนดมาตรการเฝ้าระวังโรคใบร่วงในยางพาราที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. Colletotrichum sp. และเชื้อราอื่น ๆ ส่งใบร่วงรุนแรง ต้นโทรม ผลผลิตน้ำยางทยอยลดลง ถึงขั้นต้องหยุดกรีดยาง เชื้อรานี้แพร่ระบาดโดยลมหรือจากการเคลื่อนย้ายส่วนของต้นยาง จึงป้องกันได้ยาก อาการของโรคปรากฏบนใบยางแก่ ลักษณะเป็นแผลกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางส่วนใหญ่มากกว่า 0.5 เซนติเมตร ช่วงเริ่มแรกอาการบนผิวใบเป็นรอยสีเหลืองค่อนข้างกลม (chlorosis) และต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะตายแห้ง (necrosis) เป็นแผลกลมสีสนิมซีด พบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล จากนั้นใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด อาการของโรคจะรุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วันเพราะอากาศที่ชื้นและลมแรง นอกจากนี้ยังพบมีแผลลุกลามแห้งจากปลายยอด หากใบร่วงหลายครั้งอาจถึงขั้นยืนต้นแห้งตายได้ พื้นที่พบการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา มี 9 จังหวัดได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี รวมพื้นที่ 775,178.86 ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยาง ได้รับผลกระทบ 81,962 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563) 

นายณกรณ์ กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ว่า มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นดำเนินการแล้วและกำลังดำเนินการ คือ เร่งสำรวจและติดตามการแพร่ระบาดของโรค เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โดยการรับแจ้งและสำรวจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ร่วมกับใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ซึ่งจะมีการประเมินพื้นที่การระบาดของโรคจากการร่วงของใบในช่วงเวลาต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรค ได้แก่ ข้อมูลพื้นที่การระบาด การตรวจสอบลักษณะ อาการของโรค คำแนะนำในการป้องกันกำจัดโรคเบื้องต้น การแจ้งข้อมูลการพบโรคหรือข้อสงสัยได้แก่ อบรมให้ความรู้พนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้นำท้องถิ่น และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง  3 ครั้ง ในจังหวัดนราธิวาส ตรัง และสุราษฎร์ธานี  ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคผ่านทางเว็ปไซต์การยางแห่งประเทศไทย ช่องทางสื่อสารออนไลน์อื่น ๆ รวมถึงให้ความรู้อาสาสมัครเกษตรจากทั่วประเทศของกรมส่งเสริมการเกษตร สาธิตการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการฉีดพ่นสารเคมีควบคุมและกำจัดเชื้อราใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ตรัง พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานีนำร่องจังหวัดละ 300 ไร่ รวม 1,500 ไร่ ศึกษาวิจัยหาเชื้อสาเหตุและกลไกการเข้าทำลาย ทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมีในการป้องกันกำจัดในพื้นที่เกิดโรคในสภาพแปลง ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล มาใช้เป็นแนวทางในการ บริหารจัดการโรค ทั้งหน่วยงานในประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และองค์กรระหว่างประเทศเช่น สมาคมประเทศผู้ผลิตยาง ธรรมชาติ (ANRPC) สภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (IRRDB) 


ล่าสุด กยท.ตั้งศูนย์บริหารจัดการโรคยางพารา ประกอบด้วย พนักงาน กยท. ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่บริหารจัดการ เกี่ยวกับโรคยางพาราทั้งระบบ ควบคุม กำกับ ติดตาม ประเมินผลการระบาดและผลกระทบจากโรคยางพารา แล้วให้รายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือ กยท. จัดสรรเงินอุดหนุนกองทุนพัฒนายาง ตามมาตรา 49 (3) ใน เพื่อจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์พ่นสาร ยาป้องกันกำจัดเชื้อราให้สถาบันเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาสและตรังเป็นเงิน 1,189,600 บาท อีกทั้งประสานกรมวิชาการเกษตรในการศึกษาเชื้อสาเหตุ และเข้มงวดในการเคลื่อนย้ายกล้ายาง และกิ่งตายางในแปลงขยายพันธุ์ยางเพื่อการค้าที่ปราศจากโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปสู่แหล่งอื่น 

นายณกรณ์ กล่าวว่า ระยะยาวจะวิจัยและพัฒนาพันธุ์ยางต้านทานโรค กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง เตือนภัยและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โดยการศึกษา แนวโน้มและทิศทางการระบาดของโรค วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของพื้นที่ระบาดของโรคกับสภาพภูมิอากาศ และติดตั้งเครื่องมือดักจับสปอร์ ป้องกันการเกิดโรคในพื้นที่เสี่ยงประมาณ 2,000,000 ไร่ด้วยการดูแลรักษาแปลงให้สะอาดและใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยาง ขยายผลการป้องกันกำจัดโรคให้ครอบคลุมพื้นที่โรคระบาดเพื่อไม่ให้ลุกลามจากภาคใต้ขึ้นมาสู่ภาคอื่นๆ ทางตอนบนของประเทศ

สำหรับโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราพบการแพร่ระบาดครั้งแรกอินโดนีเซีย เมื่อปี 2558 ต่อมาพบการระบาดในมาเลเซีย เมื่อปี 2560 การแพร่ระบาดของโรคขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จนกระทั่งมีรายงานพบการแพร่ระบาดเข้ามายังพื้นที่ภาคใต้ของไทย ได้รับรายงานครั้งแรกเดือนกันยายน 2562 ในจังหวัดนราธิวาส จากการตรวจสอบใบยางพาราที่เป็นโรค การป้องกันกำจัด พ่นด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อรา แมนโคเซบ 2-3 ครั้ง สลับด้วยยาดูดซึม เช่น คาร์เบนดาซิม โพรพิเนป คลอโรธาโลนิล หรือเฮกซาโคนาโซล 1 ครั้ง ตามอัตราแนะนำ ส่วนใบที่เป็นโรคแล้วร่วงลงมาให้เก็บรวบรวมทำลายโดยฝังกลบหรือกองรวม โรยทับใบยางเป็นโรคด้วยปูนขาวหรือโดโลไมท์ให้ทั่ว หว่านตามด้วยยูเรียปริมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักปูนแล้วรดน้ำตาม ตลอดจนใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นยางให้แข็งแรงจะทำให้ต้นยางที่เป็นโรคแตกใบใหม่และปัองกันแปลงใกล้เคียงไม่ให้ติดโรคได้.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

น้ำค้างแข็งดอยอินทนนท์

กิ่วแม่ปาน 3 องศาฯ เกิดน้ำค้างแข็งบนยอดหญ้า

ดอยอินทนนท์หนาวมาก อุณหภูมิลดลงอีก เช้านี้จุดชมวิวกิ่วแม่ปาน 3 องศาฯ เกิดน้ำค้างแข็งบนยอดหญ้าขาวโพลนไปทั่ว นักท่องเที่ยวสุดตื่นเต้น

เลี่ยงตอบกระทู้

นายกฯ เลี่ยงตอบกระทู้ในสภาฯ งงยุบสภา บอกไม่ได้ยินใครพูด

นายกฯ เลี่ยงตอบกระทู้ในสภาฯ บอก “เมอร์รี่คริสต์มาส” ไร้สัญญาณยุบสภา ลั่นยังไม่ได้ยินใครพูด ด้าน “มนพร” ยัน นายกฯ ไม่ทิ้งสภา มอบ รมต.เกี่ยวข้องแจง

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

สีสันคริสต์มาสอีฟ ย่านราชประสงค์

บรรยากาศเทศกาลคริสต์มาสอีฟ ย่านราชประสงค์ ท่ามกลางอากาศสบายๆ ยามเย็น อบอวลด้วยรอยยิ้มและความสุข ททท. มั่นใจตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2567 จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2568 จะมีนักท่องเที่ยวร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ทั่วไทย มากกว่า 1.5 ล้านคน สร้างเม็ดเงินกว่า 62,000 ล้านบาท