สวนสยาม 25ก.พ.-พิษโควิด-19 สวนสยามนักท่องเที่ยวลดกว่าร้อยละ 50 ผู้บริหารเผยปีนี้ไม่หวังกำไรขอแค่ประคองตัว เตรียมจัดกิจกรรมกระตุ้น ช่วงปิดภาคเรียน ขยายเวลาเปิดกลางคืน พร้อมยืนยันไม่ปรับคนออก เพราะยิ่งเป็นการซ้ำเติม
พล.ต.ท.เชษฐา โกมล วรรธนะ ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมดูแลสถานที่ท่องเที่ยวในสถานการณ์ภาวะวิกฤติเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่สยามอะเมซิ่ง พาร์ค หรือ สวนสยาม โดยมีนายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานคณะกรรมการกลุ่มสยามอะเมซิ่ง พาร์ค ให้ข้อมูล
พล.ต.ท.เชษฐา กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นนโยบายที่จะพยายามลงไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆเพื่อติดตามแนะนำช่วยเหลือ และรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการ ในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสวนสยามมีมาตรการรองรับป้องกันดูแลรักษาความสะอาดที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว เพียงแค่แนะนำให้อาจเพิ่มรอบการทำความสะอาดเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ไปพาผู้ประกอบการท่องเที่ยวจุดสำคัญๆทั่วประเทศ พบว่าได้รับผลกระทบ นักท่องเที่ยวหาย ร้อยละ 80-90 บางรายไปต่อไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการ ซึ่งวันนี้ได้รับข้อเสนอแนะมาจากทางสวนสยามจะขอให้ทางภาครัฐงดเก็บหรือลดหย่อนการจัดเก็บภาษี สำหรับผู้ประกอบการในช่วงที่เจอวิกฤตเช่นนี้ ซึ่งทางตำรวจท่องเที่ยวจะได้รวบรวมข้อเสนอทั้งหมดนำเสนอต่อ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก่อนนำเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาต่อไป
ด้าน น.ส.นพกาญจน์ เหลืองอมรเลิศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สยามอะเมซิ่ง พาร์ค หรือ “สวนสยาม”กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาสวนสยามเริ่มเห็นภาวะลดมาตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว เทียบสัดส่วนเฉพาะในเดือนมกราคม ปี2561 มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 108,680 คน ปี 2562 ลดเหลือ 77,434 คน ส่วนปีนี้ 2563 ลดฮวบเหลือ53,582 คน หรือเฉลี่ยต่อวันจากประมาณ 1,500 คนเหลือเพียง 700 คน หายไปเกินกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2561 เป็นตัวเลขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ก่อตั้งสวนสยามเป็นเวลากว่า 40 ปี
สำหรับลูกค้ากลุ่มหลักๆที่มาเที่ยวสวนสยามร้อยละ85 เป็นคนไทย ซึ่งตอนนี้ยอดหายไปเยอะมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางมาเป็นคณะเพื่อเดินทางท่องเที่ยวจัดเลี้ยง ตอนนี้มีทั้งเลื่อน และยกเลิกไปจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนกลุ่มนักเรียนที่มาทัศนศึกษาเช้าเย็นกลับ ยกเลิกยาวอย่างไม่มีกำหนด ไม่ต้องพูดถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ สัดส่วนร้อยละ15 หายไปทั้งหมดในตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นตะวันออกกลาง, อินเดีย , และรัสเซีย ส่วนจีนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ3-4 ขณะนี้ยอมรับว่ายังไม่ทราบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะกลับเข้ามาได้อีกเมื่อใด
น.ส.นพกาญจน์ กล่าวด้วยว่า ค่าใช้จ่ายที่สวนสยามต้องแบกรับในแต่ละปีอยู่ที่ 400ล้านบาทเพียงแค่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ขาดทุนไปแล้ว 20 ล้านบาท หลังจากนี้ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องเจอภาวะขาดทุนเพิ่มมากกว่าเดือนมกราคม ซึ่งในที่ประชุมพูดคุยกันว่าเลวร้ายที่สุดขอให้ตัวเลขคงที่เดือนละ 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่พอรับได้ แต่ก็พยายามมีแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคัก เน้นตลาดหลักคนในประเทศ
โดยแผนแรกที่จะทำคือในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนสวนสยามจะขยายเวลาเปิดเพิ่มช่วงกลางคืนด้วย จากเวลา10.00-18.00 น.ขยายเป็น 10.00-22.00 น. และลดราคาบัตรเข้าเล่นสวนน้ำพร้อมเครื่องเล่น จาก 900 บาทเหลือ 500 บาท และหากใครที่มาหลังเวลา 16.00 น. จะลดราคาบัตรอีกให้เหลือ 300 บาท รวมทั้งจะชวนหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ร่วมจัดงานในช่วงปิดเทอม ทั้งประดับไฟอย่างยิ่งใหญ่ การแสดงในรูปแบบต่างๆ หวังดึงดูด กระตุ้นการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวให้มามากที่สุด โดยแคมเปญนี้จะเริ่ม ตั่งแต่วันที่ 12 มีนาคมถึง 10 พฤษภาคมนี้ ซึ่งแคมเปญนี้ จะช่วยได้มากขนาดไหนตนเองคงยังไม่กล้าที่จะคาดหวังเพียงแต่พยายามทำให้เต็มที่ที่สุด
ขณะที่นายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานคณะกรรมการกลุ่มสยามอะเมซิ่ง พาร์ค กล่าวถึงกรณีจะมีการปรับลดจำนวนคนทำงานให้สอดคล้องกับภาวะนักท่องเที่ยวที่ลดหายไปหรือไม่นั้น ว่า พนักงานได้เงินวันละ 300 บาท ก็แทบจะไม่พอค่าใช้จ่ายในแต่ละวันอยู่แล้ว ดังนั้นการจะให้ออกจากงาน ยิ่งเป็นการซ้ำเติมคนในภาวะเช่นนี้อีก จะพยายามช่วยเหลือแบกรับให้ไว้ได้นานที่สุด และคงจะไม่ต้องมาถามถึงยอดขายกำไรอะไร ในปีนี้ เพราะยังไงก็ไม่มีกำไรอยู่แล้ว คงจะพยายามประคองตัวไปให้ดีที่สุด เพราะหวังว่าสถานการณ์อาจจะกลับมาดีโดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย