ญี่ปุ่น 21 ก.พ. – กกพ.เตรียมชง กพช.ปลดล็อกดันเอกชนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันใน ERC Sandbox มี.ค.นี้
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันรูปแบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ กกพ.ต้องศึกษารูปแบบในหลายประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้กับไทยให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยมาดูงานโครงการทดสอบภายใต้โครงการ Sandbox สำหรับการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ Peer to Peer ของ Kansai Electric Power ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาเป็นตัวกลางซื้อขายไฟฟ้า ทำให้มีการจับคู่คำสั่งซื้อระหว่างผู้ใช้ โดยผ่านสมาร์ทมิเตอร์ได้ และคาดว่าหากมีการพัฒนาระบบการจัดเก็บไฟฟ้าจะทำให้มีการซื้อขายคล่องตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่มีการซื้อขายไฟฟ้าตลาดค้าปลีกรายย่อยรูปแบบดังกล่าว เพราะยังติดเรื่องกฎระเบียบ ซึ่งทาง Kansai คาดว่าจะสามารถนำรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer มาใช้ได้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า
ส่วนของไทย กกพ.มีการเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะประชุมเดือนมีนาคมนี้ เพื่อแก้ไขกฎเกณฑ์ข้อจำกัดต่าง ๆ เปิดทางให้เดินหน้าเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Peer to Peer Energy Trading หรือระบบการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับชุมชนโดยรอบในพื้นที่โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการบริหารพลังงาน (ERC Sandbox) ได้รวดเร็วขึ้น หลังจากได้ผู้ที่มีสิทธิทดสอบระบบดังกล่าวจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ โดยข้อจำกัดสำคัญ คือ การที่ปัจจุบันระบบซื้อขายไฟฟ้าของไทยอยู่ภายใต้นโยบายที่กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว รวมถึงยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน (Wheeling Charge) ซึ่งจะทำให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้ เป็นต้น
“กลุ่ม Sandbox Peer to Peer มองว่าไม่กระทบภาพรวมระบบการซื้อขายไฟฟ้าเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องระหว่างเอกชนและเอกชนกระทบอยู่ที่นโยบายบอกว่าเป็น Single Buyer จะขอปลดตรงนี้ที่เอกชนขายกับเอกชน ขายกันเอง หรือกรณีขายผ่านสายเพื่อเป็นการทดลองดูว่าจะระบบมีพฤติกรรมการใช้อย่างไร และจะมีผลต่อเสถียรภาพระบบไฟฟ้าอย่างไร โดยขอเสนอไปกับ กพช.ให้ทดลองใน Sandbox” นายคมกฤช กล่าว
กกพ.ยังได้มาดูงานโซลาร์ฟาร์มกลุ่ม Kansai ที่เมือง Sakai ภายใต้ชื่อ Sakai Solar Power Station ขนาด 10 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่กำจัดกากอุตสาหกรรม โดยมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 74,000 แผง แผงโซลาร์ส่วนใหญ่ใช้งานมาแล้วประมาณ 10 ปี จากอายุการใช้งานประมาณ 20 ปี ทำให้ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาแนวทางที่เหมาะสมในการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ โดยญี่ปุ่นได้นำนโยบายให้มีการสะสมเงินเข้ากองทุนเพื่อรองรับการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุที่จะออกมาเป็นจำนวนมากในอีก 10 ปีข้างหน้า
สำหรับประเทศไทยต้องศึกษาแนวทางกำจัดหลายรูปแบบ เพราะแผงโซลาร์เซลล์ของไทยจะหมดอายุใกล้เคียงกับญี่ปุ่นเช่นกัน เบื้องต้นอาจให้มีการทดลองบางพื้นที่ภายใต้ Sandbox ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงกลไกบางประการใน Sandbox เพื่อให้สามารถเดินหน้าทดลองได้ โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป.-สำนักข่าวไทย