สธ. 10 ก.พ.- สธ. แถลงผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนาในไทยดีขึ้น เตรียมย้ายหญิงชาวจีนวัย 71 ปี ที่รักษาตัวใน รพ.ราชวิถี ออกจากห้องแยกโรค มารักษาต่อในห้องทั่วไป พร้อมปรับมาตรการควบคุมโรคเพิ่มเติม ขณะนี้เริ่มทดลองนำเลือดของแท็กซี่ที่เพิ่งหายจากโรค มาปั่นเอาน้ำเหลืองมาสกัดเป็นแอนติบอดี้ สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ป่วยคนอื่น
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป และ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า สถานการณ์ภาพรวมอาการของผู้ป่วยโคโรนาในไทยคงที่ คงมีผู้ป่วย 32 คน รักษาหายแล้ว 10 คน นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 22 คน ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดนี้เป็นคนไทย 9 คน. คนจีน 23 คน. การทำงานจากนี้ จะเน้นการเฝ้าระวังในกลุ่มคนไทยมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การป่วย เริ่มพบสัดส่วนของคนไทยและจีน เท่ากันที่ร้อยละ 50 อีกทั้งเป็นการประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่อัตรานักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยลดลง ทำให้การควบคุมเฝ้าระวังโรค ต้องมุ่งไปจับในกลุ่มคนไทย ที่ทำงานติดต่อสัมพันธ์กับคนจีน
นพ.โสภณ กล่าวว่า จากข้อมูลการแปลข่าวต่างประเทศ เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาว่าติดในทางอากาศ เป็นการแปลที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งการติดเชื้อนี้ พบว่า เกิดขึ้นได้จากการไอจาม แต่ละอองฝอยที่เกิดขึ้น พบว่ามีขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะตกลงอยู่กับพื้นที่ไม่ฟุ้งกระจาย ในระยะ 1 เมตรเท่านั้น การสวมหน้ากากอนามัยป้องกันทำได้ และควรมีการไอจามให้ถูกวิธี แต่ข้อมูลที่ระบุว่าเกิดการติดเชื้อได้ทางอากาศ แสดงว่า ต้องละอองฝอยขนาดน้อยกว่า 5 ไมครอน และอยู่ในสถานที่ปิด พบได้ตามโรงพยาบาล ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ดังนั้นบุคลาการทางการแพทย์ จึงต้องสวมเครื่องป้องกัน
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า จากข้อมูลจาก CDC จีนที่ให้การรักษาและควบคุมโรคนี้ พบว่า ละอองฝอยของเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นละอองฝอยขนาดใหญ่ การฟุ้งกระจายของละอองฝอยที่เกิดจากการไอจาม แตกต่างกัน ละอองขนาดเล็กฟุ้งกระจายง่ายและเร็ว พบได้ในคนไข้ที่มีอาการหนัก ในห้องผู้ป่วย ที่มีการใช้เครื่องดูดเสมหะ แต่ขนาดใหญ่จะตกอยู่กับพื้นที่ ฉะนั้น บุคคลที่มีหน้าที่ทำความสะอาดต้องระมัดระวังตัว การสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ จะช่วยในการป้องกันโรค
รศ.(พิเศษ) นพ. ทวี กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาที่มีอาการรุนแรง ขณะนี้เริ่มมีการทดลองนำเลือดของแท็กซี่ที่เพิ่งหายจากโรค มาปั่นเอาน้ำเหลืองมาสกัดเป็นแอนติบอดี้ สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ป่วยคนอื่น โดยนำไปฉีดให้กับผู้ป่วย 2 คนที่เป็นคนไทย มีอาการรุนแรง คือ คนขับรถบัส ที่ป่วยวัณโรค ร่วมกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และ ผู้ป่วย เพศชาย อายุ 33 ปี เนื่องจากมีอาการรุนแรง เพิ่งเริ่มทดลองให้ไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (8 ก.พ.) โดยจะมีการติดตามอาการภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อดูว่าการให้แอนติบอดี้ ได้ผลหรือไม่ ทั้งนี้ การฉีดแอนติบอดี้ของคนที่หายป่วย เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเป็นการทดลองรักษา หวังว่าจะให้ผลดี
รศ.(พิเศษ) นพ. ทวี กล่าวว่า สำหรับมาตรการของไทย หลังจากที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยน้อยลง และมีทางการจีนห้ามเดินทางกว่า 10 วันแล้ว จากนี้ จะเน้นการเฝ้าระวังในกลุ่มคนไทยที่ทำงานเกี่ยวข้องกับทัวร์ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ที่ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทาง ได้แก่ เชียงใหม่ กทม.และปริมณฑล ชลบุรี และกระบี่ หรือ กลุ่มคนที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง เพื่อเฝ้าระวัง เพราะทิศทางการควบคุมโรคเปลี่ยนไป เมื่อไม่มีนักเดินทางเช่นเดียวกับทั่วโลก คาดการณ์ว่าต่อไป จะพบคนป่วยไข้หวัด 200,000 คนต่อวัน หากเป็นเช่นนั้นจริง จะทำให้อัตราการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น จึงให้มีการแยกคัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดร่วมด้วย และ ขอให้ทุกคนหมั่นล้างมือเมื่อไปที่สาธารณะ หากอยู่ในที่แออัดควรสวมหน้ากากอนามัย ผูุ้้ที่ป่วยควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยคนไทย ที่กลับมาจากอู่ฮั่น อาการดีขึ้น เช่นเดียวกับหญิงชาวจีนอายุ 71 ปี ที่รพ.ราชวิถี อาการดีขึ้นแล้วเช่นกัน โดยผลตรวจเป็นลบ เตรียมให้ย้ายมารักษาในห้องทั่วไปในวันพรุ่งนี้ (11 ก.พ.) และมาตรการควบคุมโรคจากนี้ ในวันพรุ่งนี้ (11 ก.พ.)จะเสนอให้มีการแยกคัดกรองโรคไข้หวัดออกจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่น เพื่อให้การตรวจเฝ้าระวังไม่ปะปน และง่ายแก่การคัดแยกโรค .-สำนักข่าวไทย