กรุงเทพฯ 30 ม.ค. – กฟผ.หนุนแนวคิด “สนธิรัตน์” นำเข้าแอลเอ็นสปอตมาใช้ช่วงนี้ ชะลอการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ส่งผลต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ เพราะราคาแอลเอ็นจีต่ำกว่าราคาก๊าซฯ เฉลี่ยในประเทศ เตรียมเสนอแผนนำเข้าล็อต 3 เกือบ 1 ล้านตัน/ปี เร่งศึกษาแผนนำเข้าแอลเอ็นจีป้อนโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี คาดเสร็จกลางปีนี้
นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ศึกษาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อใช้โอกาสบาทแข็งค่าเร่งนำเข้าสินค้าทุน รวมถึงนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มอบหมายให้ กฟผ. และ บมจ. ปตท. ศึกษาความเป็นไปได้ให้ใช้โอกาสราคาแอลเอ็นจีตลาดโลกต่ำกว่าก๊าซฯ ในประเทศมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งพบว่าหากดำเนินการได้จะเกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น ต้นทุนค่าไฟฟ้าภาคประชาชนจะต่ำลง เพราะพบว่าราคาสปอตตลาดโลก JKM ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 4 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ขณะที่ราคาตลาดรวม (POOL) ของไทยสูงกว่า 7 ดอลลาร์/ล้านบีทียู
นอกจากนี้ ยังเป็นการสงวนทรัพยากรก๊าซฯ ในอ่าวไทย ในส่วนที่ไม่ผ่านโรงแยกก๊าซฯ (BY PASS) เพื่อป้อนเข้าสู่การผลิตปิโตรเคมีได้มากขึ้น ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ขณะที่ปริมาณก๊าซฯ ในประเทศลดลงไม่เพียงพอต้องนำเข้าเพิ่ม ท่ามกลางความต้องการใช้ไฟฟ้าปีนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าแผน โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าโตถึงร้อยละ 5.9 เหนือการคาดการณ์ซึ่งเป็นผลจากอุรณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 34 องศาเซียลเซียส สูงกว่ามกราคม 2562 ที่เฉลี่ยเพียง 32.1 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ ตามนโยบายรัฐบาลดังกล่าว กฟผ.จึงศึกษาแผนที่จะนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตใหม่ และจะเป็นการเปิดประมูลนำเข้าล็อตที่ 3 ในปริมาณ ไม่เกิน 1 ล้านตัน เพื่อนำมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงใน 3 โรงไฟฟ้า คือ โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.อยุธยา และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จ.สมุทรปราการ โดยจะเสนอขอความเห็นจากทางกระทรวงพลังงาน คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเร็วสุดราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ขณะเดียวกัน กฟผ.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเข้าแอลเอ็นจีป้อนโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กำลังผลิตไฟฟ้าที่จะเลื่อนเข้าระบบเร็วขึ้น 2 ปี เป็นเริ่มปี 2568 โดยจะศึกษาเสร็จกลางปีนี้ต้องนำเข้ารวมไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตัน/ปี โดยศึกษาการนำเข้าทั้งรูปแบบเรือลอยน้ำ ( FSRU ) และระบบ สถานีรับ-จ่ายก๊าซ (Terminal ) ว่ารูปแบบใดดีต่อกันและเส้นทางโครงสร้างพื้นฐานท่อก๊าซฯ จะเป็นเส้นทางใด
สำหรับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าระหว่างวันที่ 1-23 มกราคม 2563 อยู่ที่ 11,940 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.94 ทำให้คาดว่าทั้งปี 2563 ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจะเติบโตประมาณร้อยละ 4 สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ประเมินว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 2 จากปี 2562 มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า 197,700 ล้านหน่วย
ส่วนความคืบหน้าการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ ระหว่าง กฟผ.ที่จะรับซื้อก๊าซฯ จาก ปตท.นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดส่งร่างสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบความถูกต้อง คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาฯ กับ ปตท.ได้ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ปริมาณรับซื้อ 3.5-5 ล้านตันต่อปี อายุสัญญา 10 ปี (ปี 2563 – 2572) จากปัจจุบัน กฟผ.มีความต้องการใช้ก๊าซฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 5-6 ล้านตันต่อปี. -สำนักข่าวไทย