กรุงเทพฯ 20 ต.ค.- สนพ.เสนอ รมว.พลังงานดับฝันเอกชนนำเข้าแอลเอ็นจีปี 63 หลังโควิด-19 กระทบการใช้ก๊าซฯ หดตัว รอดูสถานการณ์ปีหน้า เสนอหลักเกณฑ์หากรายใดนำเข้าแล้วเกิดปัญหา Take or Pay ผู้นั้นต้องจ่าย ด้าน ครม.เห็นชอบแผนพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่ย้ำให้ทบทวนทั้งหมด รวมทั้ง โรงไฟฟ้าชุมชน เพราะความต้องการพลังงานลดลง
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ได้รายงานต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงสถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลงจากผลกระทบโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจและสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ตลาดโลกที่ล่าสุดราคาสปอต หรือตลาดจรปรับขึ้นมาถึงระดับ 6.6 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หลังจากเข้าสู่ฤดูหนาวความต้องการของจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ปรับตัวสูงขึ้น ก็ส่งผลทำให้ราคาขยับขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างความต้องการใช้ที่ลดลงกับปริมาณซื้อตามสัญญาทั้งอ่าวไทย-เมียนมา และการนำเข้าแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว (LONG TERM) ของ บมจ.ปตท.แล้ว พบว่าปีนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องอนุมัติให้ผู้นำเข้ารายอื่น นอกเหนือ ปตท.นำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มเติม แต่อย่างใด แม้ว่าจะมีผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้นำเข้า หรือชิปเปอร์ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้ว ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กลุ่มบีกริม กลุ่มกัลฟ์ และโรงไฟฟ้าหินกอง
” สนพ.ได้เสนอ รมว.พลังงานว่าการเปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจี จะต้องดูถึงปัญหา TAKE OR PAY หรือภาระที่ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย ที่ ปตท.ได้ทำไว้ในส่วนสัญญาระยะยาวและสัญญาอ่าวไทย-เมียนมา เพราะเป็นส่วนของความมั่นคงด้านพลังงาน โดยการอนุมัตินำเข้าจะต้องเป็น Room ในส่วนของนอกเหนือส่วนดังกล่าว และหากชิปเปอร์รายใดต้องการนำเข้าเกิน Room แล้วเกิดปัญหา TAKE OR PAY ผู้นำเข้ารายนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเกณฑ์ทั้งหมด รมว.พลังงานได้ให้ กกพ.ตอบคำถามประเด็นปัญหาต่าง ๆ แล้วจะนำเข้า กบง.ก่อนประกาศหลักเกณฑ์การนำเข้าต่อไป ดังนั้น การอนุมัตินำเข้าก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ขอความต้องการใช้และทำอย่างไรไม่เกิดปัญหาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” นายวัฒนพงษ์ กล่าว
นายวัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้เห็นชอบแผนงานด้านพลังงานตามมติคณะกรรมการนโบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2563 วันที่ 19 มีนาคม 2563 เช่น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) อย่างไรก็ตาม ให้กระทรวงพลังงานดำเนินการตามข้อเสนอของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเสนอต่อ กพช.ต่อไป โดยข้อเสนอ สศช.ได้ให้ทบทวนความต้องการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลง หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบหนักต่อเศรษฐกิจและให้รวมแผนพลังงานหลักของประเทศให้เหลือแผนเดียว จากปัจจุบันมี 5 แผน คือ แผนไฟฟ้า,น้ำมัน,พลังงานทดแทน,แผนอนุรักษ์พลังาน,แผนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอาจเรียกเป็นแผนพลังงานแห่งชาติปรับปรุงทุก 5 ปี เรื่องนี้ทางกระทรวงพลังงานจะมีการจัดดำเนินการรับฟังความคิดเห็นในปีหน้า และประกาศเป็นแผนพลังงานฉบับใหม่ปี 2565 ซึ่งจะเป็นไปตามปีเดียวกับแผนของคณะกรรมการปฎิรูปพลังงาน
สำหรับแผนพลังงานสำคัญ 4 แผนที่ได้ปรับปรุงใหม่ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.วันนี้ คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2561–2580 (AEDP 2018) แผนอนุรักษ์พลังงาน 2561-2580 (EEP 2018) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ 2561-2580 (Gas Plan 2018) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและสถานการณ์
ส่วนนโยบายการส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยปรับปรุงรายละเอียดสำคัญให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันและความเหมาะสมในอนาคต ซึ่งในส่วนของปริมาณรับซื้อ แม้ตามแผนไฟฟ้าจะมีกำลังผลิตรวม 1,933 เมกะวัตต์ แต่การดำเนินการรายละเอียดก็จะมีการทบทวนต่อไป ขณะเดียวกันเห็นชอบผลการศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ (Mass Transit) โดยเป็นอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า ช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (Time Of Use (TOU) หรือเท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV) เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย