กรุงเทพฯ 20 ม.ค.- หลายวันมานี้ แทบทุกพื้นที่ของไทยต้องเผชิญกับวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปัญหาเหล่านี้นักวิชาการคาดการณ์ว่าจะเรื้อรังและอยู่กับสังคมไทยในทุกฤดูหนาวอากาศปิด ซึ่งผลกระทบด้านสุขภาพที่จะตามมาในระยะยาวจะมีอะไรบ้าง ติดตามจากรายงาน
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษรายงานคุณภาพอากาศของไทย วันนี้ ค่า AQI หรือดัชนีวัดคุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วน PM 2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 12- 94 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ความหนาแน่นของฝุ่นสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ว่ามีลักษณะคล้ายหมอกหนาปกคลุม
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบหายใจและวัณโรคระบุว่า ประเทศไทยต่อไปต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นในทุกฤดูหนาว ราวเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ไปอีกนาน หากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่วิเคราะห์หาจุดกำเนิดฝุ่นที่แตกต่าง แล้วแก้ไข หรือสภาพอากาศไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว มีทั้งสมรรถภาพการทำงานของปอดในคนปกติลดลง เทียบได้กับคนสูบบุหรี่ เสี่ยงเกิดมะเร็งปอด หลอดลม ความเล็กของฝุ่น จะเข้าไปตามหลอดเลือด และอวัยวะที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เช่น หัวใจขาดเลือด สมองเสื่อม และไตวาย
ส่วนระยะสั้น ภาวะโรคกำเริบจากฝุ่น PM 2.5 ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่พบคนมีกลุ่มโรคเรื้อรังพื้นฐาน ภูมิแพ้/ปอด ผิวหนัง เกิดขึ้นได้ ส่วนในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ปอด หัวใจ สมอง ไต และหญิงตั้งครรภ์ ควรเลี่ยงการอยู่โล่งแจ้ง ใช้เวลาทำกิจกรรมให้สั้นที่สุด สวมเครื่องป้องกัน ทั้งหน้ากากอนามัย บ้านหรือที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงค่าฝุ่นสูง ควรมีเครื่องฟอกอากาศ
สำหรับการขจัดฝุ่นที่ตกค้างในร่างกายให้ออกไป ตามกลไกธรรมชาติ ไตจะทำหน้าที่ขับ แต่เพื่อเร่งให้ฝุ่นไม่ตกค้างในร่างกายนานเกิดการอักเสบน้อยที่สุด ต้องเพิ่มการดื่มน้ำ และทานสารต้านอนุมูลอิสระ
เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ต้องอยู่คู่กับสังคมไทยไปอีกนาน การตระหนักถึงปัญหา พึ่งพาตัวเองด้วยการหมั่นดูแอปลิเคชันเตือนฝุ่น พกหน้ากากอนามัย และเลี่ยงทำกิจกรรมการกลางแจ้ง ก็ช่วยลดความเสี่ยงไปครึ่งหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย