กรุงเทพ 20 ม.ค. – ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับหลักเกณฑ์การกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ในส่วนของการปรับลดการวางเงินดาวน์ลง เพื่อหนุนให้คนไทยมีบ้านหลังแรกง่ายขึ้น พร้อมยืนยันไม่ควรยกเลิกเพดาน LTV เพื่อป้องกันการเก็งกำไรที่อยู่อาศัย
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศปรับหลักเกณฑ์ การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV เพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกได้ง่ายขึ้น และช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัย หลังจากที่เคยปรับเกณฑ์ให้มีความผ่อนปรนกรณีกู้ร่วมไปแล้วก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2562
โดยหลักเกณฑ์ LTV ที่มีการปรับใหม่ คือ บ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท สามารถกู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน และสามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าหลักประกันสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัย เช่น การตกแต่งบ้าน การซ่อมแซมหรือต่อเติม และกำหนดให้วางดาวน์น้อยลงจาก 20% เป็น 10% ส่วนบ้านหลังที่2 หากผ่อนชำระสัญญาที่ 1 มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี จากเดิมที่กำหนด 3 ปี ต้องมีเงินดาวน์ 10%
ส่วนบ้านที่ราคาเกิน 10 ล้านบาท ในส่วนของบ้านหลังแรก ให้วางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 10% จากเดิม 20% และบ้านหลังที่ 2 ต้องวางดาวน์ 20% และหลังที่ 3 ขึ้นไปต้องวางดาวน์ 30% ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันถึงสาเหตุที่ยังไม่ควรยกเลิกเพดาน LTV เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าการกู้สัญญาที่ 2 เป็นการกู้เพื่อเกร็งกำไรสูงกว่า 50% ซึ่งส่งผลให้ราคาที่อยู่ปรับสูงขึ้นไปด้วย กระทบต่อผู้ที่ต้องการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยอย่างแท้จริง ขณะที่หลังการใช้มาตรการ LTV ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 พบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ยังขยายตัวได้ โดยผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรกไม่ได้รับผลกระทบ สะท้อนจากจำนวนบัญชีสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 ยังขยายตัวได้ 5.6% ส่วนสินเชื่อสัญญาที่ 2 ขึ้นไปติดลบ 20.4% ขณะที่สัดส่วนหนี้เสีย หรือ NPL ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 62 พบว่าที่อยู่อาศัยโต 3.7% เป็นครั้งแรกที่เติบโตสูงกว่า สินเชื่อเพื่อการบริโภคสำคัญอย่างสินเชื่อรถยนต์ ที่มีสัดส่วน NPL อยู่ที่ระดับ 2% .- สำนักข่าวไทย .- สำนักข่าวไทย