กทม. 13 ม.ค. – ปัญหาติดเกมกำลังคุมคามสกัดกั้นอนาคตเด็กไทย เพราะภาวะติดเกมส่งผลทั้งทางตรง ทางอ้อมต่อร่างกาย การเข้าสังคม บางคนสมาธิสั้น บางคนซึมเศร้า ปัญหานี้แก้ไขเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นทรัพยากรและกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้อย่างไร ติดตามจากรายงาน
ทุกวันนี้เกมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็ก อีกทั้งโลกออนไลน์เปิดกว้าง เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับหน้าจอมากกว่าคนรอบข้าง ในขณะที่ผู้ใหญ่รู้จักแบ่งเวลา อาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ในเด็กอาจไม่ใช่
เหมือนเช่นครอบครัวนี้ที่ความใส่ใจของคุณแม่เป็นเกราะคุ้มภัย สังเกตเห็นพฤติกรรมลูกชายชั้น ป.3 เปลี่ยนไป แม้เรียนดี แต่การทำงานไม่เรียบร้อย บุคลิกไม่อยู่นิ่ง สงสัยอาจป่วยสมาธิสั้น จึงตัดสินใจปรึกษาจิตแพทย์
เพราะก้าวข้ามความกลัว ยอมรับปัญหา 3 ปีของการรักษาน้องจึงมีอาการดีขึ้น รับผิดชอบทั้งการเรียน งานบ้าน เข้าสังคมได้ดี ทุกครั้งของการเล่นเกมหรือท่องโลกออนไลน์ ต้องทำอย่างมีเงื่อนไข แต่ฝึกวินัยในการหยิบและใช้มือถือเข้าเกม
ข้อบ่งชี้ภาวะติดเกมในเด็ก จิตแพทย์ระบุว่า เล่นเกมในวันธรรมดามากกว่า 1 ชม. วันหยุดกว่า 2 ชม.ขึ้นไป ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การเรียน ทำงาน พบในเด็กชายมากกว่าหญิง ผลข้างเคียงของเกมมีตั้งแต่สมาธิสั้น ซึมเศร้า การรักษาอาจใช้ยาร่วมกับพูดคุยกับครอบครัวเพื่อปรับพฤติกรรม ช่วยป้องกันไม่ให้ป่วยซ้ำ
ผู้ชายติดเกมต่อสู้ หญิงติดเกมที่มีลักษณะสวยงาม ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะนี้เป็นโรคทางจิตเวชที่ต้องรับการแก้ไข ทางแก้คือ การฝึกและสร้างวินัยให้กับเด็กจึงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะโลกยุคนี้ไม่สามารถปฏิเสธเทคโนโลยีได้. – สำนักข่าวไทย