กรุงเทพฯ 7 ม.ค. – สนพ.ย้ำดูแลราคาน้ำมันกลุ่มบี 10 ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร พร้อมใช้กองทุนน้ำมันดูแล ส่วนการใช้พลังงานขั้นต้นในปี 63 คาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 บาทแข็งค่า-ราคาน้ำมันต่ำปี 62 ส่งผลมูลค่านำเข้าลดลงร้อยละ 14 ด้านโฆษก ก.พลังงานแจงอีกรอบราคาน้ำมันที่ขึ้นหลังปีใหม่เป็นไปตามกลไกตลาดโลก
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สรุปสถานการณ์พลังงานปี 2562 การใช้พลังงานขั้นต้นเติบโตร้อยละ 0.7 ตามเศรษฐกิจไทย(GDP)ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ส่วนแนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นปี 2563 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8จากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดจีดีพีไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.7-3.7 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และคาดกรอบราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 55-63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ต้องจับตาสถานการณ์เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ6 จากเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ 65.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 69.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในวันที่ 6 มกราคม 2563 ซึ่งหากราคาสูงกว่า5เหรียญต่อ/บาร์เรล ใน 1สัปดาห์ ทางกระทรวงพลังงานจะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปดูแล เป้าหมายดูแลราคาดีเซลบี10ไม่เกิน30บาท/ลิตร หรือราคาน้ำมันดิบดูไบที่ประมาณ 80 เหรียญ/บาร์เรล จากราคาบี 10 วันนี้อยู่ที่25.39บาทต่อลิตร โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานเป็นประธานจะหารือภาพรวมทั้งหมดในวันที่ 10 ม.ค.นี้
“แผนการดูแลความมั่นคงพลังงานไม่ขาดแคลนและราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพ ทางกระทรวงพลังงานมีแผนชัดเจน กำหนดเบื้องต้น กองทุนฯจะเข้ามาดูแล เมื่อราคาปรับขึ้น 5 เหรียญ/บาร์เรลใน 1 สัปดาห์ โดยเกณฑ์ที่สำคัญคือดูแลดีเซลไม่เกิน 30บาท/ลิตร”นายวัฒนพงษ์ กล่าว
สำหรับการใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2563 ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จะเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมัน ถ่านหิน/ลิกไนต์ พลังงานทดแทน ไฟฟ้านำเข้า และก๊าซธรรมชาติ ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าของ ปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ การส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ มาตรการการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนภายใต้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP)
ส่วนสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิง ปี 2562(มกราคม-พฤศจิกายน 62 ) ราคาน้ำมันดิบดูไบ 63.2 เหรียญต่อบาร์เรล และจากเงินบาทที่แข็งค่า การใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีการใช้เพิ่มขึ้น ร้อยละ1.6 โดยกลุ่มดีเซล เพิ่มขึ้น ร้อยละ4.3 เฉลี่ยยอดใช้ 67.5 ล้านลิตร/วัน ยอดใช้กลุ่มเบนซินร้อยละ 3.9 เฉลี่ย32.3 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรก ในขณะที่การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลงร้อยละ 0.6 รวมทั้งสิ้น6,582 พันตัน โดยลดลงทุกสขายกเว้น ภาคปิโตรเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยภาคครัวเรือน คาดว่าเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการใช้เตาไฟฟ้าและเตาไมโครเวฟเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยอดขายเตาไมโครเวฟที่เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ14 และภาคขนส่งลดลงจากผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันไปใช้น้ำมันแทนเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก สำหรับการใช้ไฟฟ้า ในปี 2562 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปีก่อน อีกทั้งมีอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้นกว่า ปีก่อนประมาณ 1-2 องศา ส่งผลให้มีการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศ และเครื่องปรับอากาศทั้งใน ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น โดยตัวเลขการใช้ไฟฟ้า ปี 2562 อยู่ที่ 194,949 ล้านหน่วย โดยความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 เวลา 14.27 น. อยู่ที่ระดับ 37,312 MW เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน และความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) อยู่ที่ระดับ 32,273 MW เพิ่มขึ้น ร้อยละ7.7-
ในปี 2562 มูลค่าการนำเข้าพลังงาน และการส่งออกพลังงานลดลง ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าราคาน้ำมันดิบที่ไม่สูงมากนัก โดยประเทศไทยมีสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้าต่อการใช้พลังงาน คิดเป็นร้อยละ 67 มูลค่าการนำเข้าพลังงานคิดเป็น 1,053 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 ตามราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากการนำเข้าพลังงานส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำมันดิบร้อยละ 61 ขณะที่การส่งออกพลังงาน อยู่ที่ 194 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 32 ตามการลดลงของการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป
นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ กบน. ได้มีมติลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดลดลง 1 บาท/ลิตร ตั้งแต่ 26 ธันวาคม 2562 ถึง 10 มกราคม 2563 นั้น จนถึงขณะนี้ (7 มกราคม 2563) ยังคงอัตราการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตามที่ได้มีมติข้างต้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกของสถานีน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของราคาหน้าโรงกลั่น มิใช่การเปลี่ยนแปลงอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ โดยหากไม่มีลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ มาช่วยพยุงราคาไว้ จะทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นลิตรละ 1 บาทจากราคาขายในปัจจุบัน
“กระทรวงพลังงาน ขอชี้แจงประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนต่อเรื่องนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงราคาในช่วงนี้ เป็นเรื่องของกลไกตลาด ซึ่งถ้าไม่มีมาตรการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 1 บาทต่อลิตร ราคาก็จะสูงขึ้นอีก 1 บาทจากราคาปัจจุบัน ณ สถานีบริการ” โฆษกกระทรวงพลังงานชี้แจง . – สำนักข่าวไทย