กระทรวงการคลัง 3 ม.ค. – รมว.คลัง เตรียมชง ครม. พิจาราณาแพ็คเก็จอุ้มเอสเอ็มอี กว่า 100,000 ราย ย้ำ ไม่ก้าวก่าย ธปท. ดูแลค่าเงินบาท
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแพ็คเกจมาตรการ “เสริมแกร่งเอสเอ็มอี เพิ่มทุนสร้างไทย เข้าถึงแหล่งทุน” ในวันอังคารนี้ คาดจะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้มากกว่า 100,000 ราย หวังช่วยกระตุ้นสภาพคล่องของเอสเอ็มอีดียิ่งขึ้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงแรกของปีนี้ พร้อมมั่นใจจีดีพีปี 2563 จะเติบโตดีกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 2.8 – 3 ซึ่งย้ำว่า มาตรการนี้จะไม่ใช้เม็ดเงินงบประมาณในการดำเนินการ แต่จะใช้วงเงินสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมวงเงินกว่า 100,000 ล้านบาท โดยได้รายงานกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ มาตรการดูแลเอสเอ็มอี ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ยังไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีประมาณ 50,000 ราย โดยกลุ่มนี้จะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อจากปัจจุบันค้ำประกันที่ 30% แต่จะไม่ถึง 50% ตามข้อเสนอของสมาคมธนาคารไทย โดยคาดว่าจะทำให้มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นในระบบ 1.5 เท่า ซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินจากกองทุน สสว.ในการดำเนินโครงการประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท
2. กลุ่มที่เป็น NPL แต่อยู่กับธนาคารพาณิชย์ และใช้บริการกับ บสย. ซึ่งกำลังจะถูกดำเนินการฟ้องร้องที่มีประมาณ 20,000 ราย จะปรับเงื่อนไขให้ บสย. ไม่ทำการฟ้องร้อง และให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะสามารถเพิ่มระยะเวลาการปรับโครงการหนี้ได้จาก 5 ปี เป็น 7 ปี และจะทำให้สถาบันการเงินเพิ่มวงเงินสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น
3.กลุ่มเอสเอ็มอีปกติที่ต้องการสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น มีประมาณ 30,000 ราย จะให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท และธนาคารออมสินอีก 40,000 ล้านบาท
ด้านค่าเงินบาท ยอมรับว่า เป็นห่วงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอด ซึ่งกระทรวงการคลังจะไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของ ธปท. ส่วนจะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่นั้น มองว่ายังมีช่องว่างที่จะสามารถดำเนินมาตรการทั้งด้านการเงินและการคลังเพิ่มเติมได้หากจำเป็น แต่จะต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ยืนยันว่า ยังไม่มีนโยบายใช้มาตรการทางภาษีในการดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติม . – สำนักข่าวไทย