กรุงเทพฯ 11 ธ.ค. – “มนัญญา” ประกาศเดินหน้าแบน 3 สาร สั่งกรมวิชาการเกษตรเคลียร์สตอกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสให้หมดก่อน 1 มิ.ย.63 ระบุมีการนำเข้าสารทดแทนแล้วกว่า 5,000 ตัน
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งกรมวิชาการเกษตรกำชับผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเลื่อนการแบนให้มีผลวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ในช่วง 6 เดือนนี้ จะไม่ให้กรมวิชาการเกษตรออกใบอนุญาตให้นำเข้า ดังนั้น ภาคเอกชนต้องเคลียร์สตอกให้หมด เมื่อกฎหมายการแบนมีผลบังคับใช้จะนำเรื่องสตอกคงค้างมาอ้างเพื่อชะลอต่อไปไม่ได้
ล่าสุดได้รับรายงานว่าส่งออกไปประเทศที่ 3 แล้วประมาณ 2,000 ตัน ส่วนการจำหน่ายในประเทศนั้นทราบว่าร้านค้าวัสดุทางการเกษตรจำหน่ายแบบลดแลกแจกแถมกันมาก ซึ่งตามมาตรการจำกัดการใช้ต้องทราบว่าร้านค้าจำหน่ายไปแล้วเท่าไร อยู่ในการครอบครองของเกษตรกรมากน้อยแค่ไหน และใครซื้อไปบ้าง รวมทั้งต้องระบุในฉลากให้ชัดเจนว่าใช้ได้กับพืชชนิดใด ปริมาณเท่าไร ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการหลายร้อยบริษัทที่ต้องอบรมเกษตรกรให้ใช้อย่างถูกต้อง แต่ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ กลับใช้งบไปอบรมเป็น 100 ล้านบาท
สำหรับไกลโฟเซต แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติไม่แบน แต่จำกัดการใช้ช่วง 6 เดือนนี้ก็ไม่อนุญาตนำเข้า เพราะมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่มีการรับรอง หากออกเป็นพระราชบัญญัติจำกัดการใช้จะไม่มีข้อคัดค้านทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ตอนนี้ไม่นำเข้าและจะไม่ให้มีในประเทศไทย แม้จะระบุว่า เป็นการทำเกษตรแบบปลอดภัย แต่ฉีดพ่นสารเคมีก่อนเก็บเกี่ยว ผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าเว้นระยะเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้องหรือไม่ จะมีสารตกค้างเข้าไปสะสมในร่างกายหรือเปล่า
น.ส.มนัญญา กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีกว่า 70 บริษัทที่นำเข้าสารเคมีทดแทนรวมประมาณ 5,000 ตัน ส่วนที่กล่าวกันว่าเป็นการนำเข้าสารเคมีชนิดหนึ่งทดแทนอีกชนิดหนึ่งนั้น คำว่า “สารเคมี” ย่อมมีพิษอยู่แล้ว แต่จะมากหรือน้อย อีกทั้งเมื่อใช้สารเคมีในการเพาะปลูกจะทำให้พืชผักและไม้ผลอ่อนแอ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า ผู้ประกอบการนำสารเคมีทางการเกษตรบางชนิดเข้ามาพักในไทยแล้วส่งต่อไปประเทศที่ 3 ผู้ประกอบธุรกิจควรคำนึงถึงความปลอดภัยและมีศีลธรรมด้วย ไม่ใช่คิดถึงแต่รายได้อย่างเดียว
ขณะนี้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวางนโยบายการทำเกษตรปลอดภัยทั้งระบบจากเกษตรกรถึงผู้บริโภค โดยมีทุกสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศเป็นกลไกนำร่อง ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรทุกแห่งจะพร้อมใจกันติดป้ายไม่จำหน่ายสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งมีสหกรณ์การเกษตรบางแห่งทำแล้ว นอกจากนี้ จะให้กรมวิชาการเกษตรรณรงค์การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภัณฑ์ ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานโดใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีทางการเกษตรซึ่งเป็นทำการเกษตรแบบประณีต (Precision Farming) เตรียมประเทศไทยไปสู่การเป็นครัวโลก
“ไม่ล้มเลิกต่อสู้แบน 3 สาร ตอนนี้มีกำลังใจส่งมาจากทั่วประเทศ หน่วยงานต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันสร้างความเข้าใจถึงผลดีของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น เพราะต้นไม้แข็งแรง ไม่มีโรคและแมลงรบกวน รวมทั้งต้องสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ โดยมีตลาดรองรับผลผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดสารพิษแก่ผู้บริโภค เป็นสินค้าคุณภาพ ขายราคาไม่แพง มีนโยบายยกเป็นซูเปอร์สหกรณ์ทุกจังหวัดเหมือนเช่นในกรุงเทพฯ มีสหกรณ์พระนครที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์” น.ส.มนัญญา กล่าว.-สำนักข่าวไทย