เพชรบูรณ์ 10 ธ.ค.-ลูกสาวพ่อค้าแม่ค้ามะขามหวานรถเร่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มองขาด อนาคตตลาดมะขามหวานจะเปลี่ยนไป พอเรียนจบปริญญาตรี จึงได้พลิกผันชีวิตจากอาชีพรถเร่ขายมะขามหวาน มาลงทุนทำมะขามแปรรูปชนิดต่างๆ โดย บยส.เข้ามาช่วยเหลือ ปัจจุบันกลายเป็นเจ้าของโรงงานแปรรูปมะขามหวานขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
มะขามหวานซึ่งนอกจากจะเป็นพืชเศรษฐกิจ และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะปลูกมากที่สุด และเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพราะมะขามหวานของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีขนาดฝักที่ใหญ่ เนื้อนุ่มหนา หวาน ชุ่ฉ่ำ และมีหลากหลายสายพันธุ์ จนเป็นจังหวัดที่ได้รับฉายาว่า “เมืองมะขามหวาน” ในขณะที่ทายาทลูกหลานเกษตรกรผู้ปลูกมะขามหวาน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ต่างพากันพัฒนาต่อยอดจากการขายมะขามหวานฝักสด
เช่นเดียวกับ นางสาววรัชยา จันจิตร อายุ 42 ปี ซึ่งอดีตเป็นเพียงลูกสาวเกษตรกรตัวเล็กๆ ที่คอยติดสอยห้อยตามพ่อแม่ ที่มีอาชีพเหมาสวนมะขามหวาน และรับซื้อมะขามหวาน เพื่อนำไปเร่ขายส่งที่ตามตลาดนัด และตามแนวชายแดนจังหวัดเลยติดประเทศลาว รวมทั้งชานเมืองกรุงเทพฯ มานานกว่า 15 ปี จนคว่ำหวอดกับวงการซื้อขายมะขามหวาน และมองว่าในอนาคตตลาดมะขามหวานน่าจะเปลี่ยนไป พอเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ และเห็นว่าพ่อแม่เริ่มมีอายุมากแล้ว นางสาววรัชยา จันจิตร จึงได้พลิกผันตัวเองจากลูกสาวคนเร่ขายส่งมะขามหวาน มาเป็นผู้ประกอบการ นักธุรกิจเจ้าของ บริษัท ปิ่นเพชร จำกัด ภายใต้แบรนด์ “มะขามปิ่นเพชร” ซึ่งเป็นโรงงานผลิตมะขามหวานแปรรูปรายใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
โดยโรงงานดังกล่าว จะใช้แรงงานหญิงสาวล้วนๆที่อยู่ภายในหมู่บ้าน จำนวนราว 40 คน และได้ใช้ระยะเวลาเพียงประมาณ 4-5 ปี ก็สามารถผลิตมะขามหวานแปรรูป และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำมาจากมะขามหวานได้มากกว่า 25 รายการ อาทิ มะขามไร้เมล็ด มะขามคลุกไร้เมล็ด มะขามจี๊ดแซบ มะขามแซบพริกเกลือขิง มะขามหยี่รสบ้วย กล้วยสอดไส้มะขาม และข้าวแตนไส้มะขาม เป็นต้น ล่าสุดยังได้นำเมล็ดมะขามหวานไปทำเป็นเซรั่มกระชับผิว เพื่อความกระจ่างใสในระดับเซลล์ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนบรรจุภัณฑ์เพื่อจะนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ปัจจุบันมะขามหวานแปรรูปภายใต้แบรนด์ “มะขามปิ่นเพชร” สามารถส่งออกไปจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ท็อปส์ซูเปอร์มาเก็ต มินิมาร์ท และโมเดิร์นเทรดต่างๆ รวมทั้งร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จำนวนหลายประเทศ อาทิ ประเทศ จีน ไต้หวัน กัมพูชา เวียดนาม ลาว และบังกลาเทศ จนสามารถสร้างรายได้เดือนละกว่า1ล้านบาท
นางสาววรัชยา จันจิตร กล่าวว่า พ่อแม่และครอบครัวมีอาชีพเหมาสวนและรับซื้อมะขามหวาน นำไปขายไปส่งตามตลาดนัดหรือตามชายแดน และกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเริ่มมีลูกค้า จึงมีความคิดว่าเราต้องมีห้องเย็นเพื่อเก็บสต๊อกมะขามหวาน ขายส่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน กัมพูชา เวียดนาม โดยการแพ็คกล่อง ทำมาได้ 15 ปี ก็เริ่มมองเห็นว่าตลาดมันเริ่มเปลี่ยน ก็เลยมีแนวคิดทำแบรนด์สินค้า โดยการทดลองทำมะขามหวานไร้เมล็ดส่งขายตามตลาด
ส่วนสาเหตุที่ใช้บริการ บสย. ก็เดิมทีเราเริ่มสร้างโรงงานเริ่มจากชาวบ้านเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน เราก็มีการใช้วงเงินสินเชื่อจากธนาคารแต่เราไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เราก็ได้ บสย.ช่วยค้ำประกันหลักทรัพย์ให้เรา และดูแลวงเงินให้เรา หลังจาก บสย. เข้ามาช่วย เราก็สามารถมีเงินทุนที่จะ สต็อกวัตถุดิบเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ทำให้เรามีสภาพคล่องมากขึ้นทั้งด้านการบริหารการจัดการวัตถุดิบ.-สำนักข่าวไทย