กรุงเทพฯ 3 ธ.ค. – กรมท่าอากาศยานแจงจัดซื้อรถดับเพลิงจอดในพื้นที่ท่าอากาศยาน เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากอนุกรรมาธิการงบประมาณแถลงสื่อมวลชน ระบุพบพิรุธการจัดซื้อรถดับเพลิงจอดทิ้งสนามบินร้างนั้น กรมท่าอากาศยานได้ออกเอกสารเผยแพร่ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้
กรมท่าอากาศยานได้จัดตั้งคำของบประมาณสำหรับปี 2563 เพื่อจัดซื้อรถดับเพลิงและรถบรรทุกน้ำ ดังนี้ 1.รถดับเพลิงเพื่อใช้ในท่าอากาศยานกระบี่ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช และเบตง 2. รถบรรทุกน้ำเพื่อใช้ในท่าอากาศยานน่านนคร ร้อยเอ็ด ระนอง สุราษฎร์ธานี และเบตง โดยเหตุผลการจัดตั้งคำขอเพื่อจัดซื้อ ประกอบด้วย การใช้เกณฑ์ในการจัดหารถดับเพลิงหรือ รถบรรทุกน้ำ ทดแทนรถที่มีอายุการใช้งานเกิน 20 ปี ซึ่งระบบอาจชำรุดและเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ประกอบกับการพิจารณาเหตุผลด้านความคุ้มค่าระหว่างการซ่อมบำรุงเดิม หรือจัดหารถคันใหม่ พบว่าการจัดหารถคันใหม่มีความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณกว่าในระยะยาว และกรมท่าอากาศยานได้มีบริหารจัดการหมุนเวียนรถดับเพลิงหรือรถบรรทุกน้ำที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างมากไปไว้ท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบินไม่มาก
ส่วนประเด็นกล่าวหา กรมท่าอากาศยานชี้แจงว่าปัจจุบันแม้ว่าท่าอากาศยานนครราชสีมาจะไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ แต่ก็มีเครื่องบินฝึกและเครื่องบินของหน่วยราชการและเอกชนอื่น ๆ ขึ้นลงเป็นประจำ วันละประมาณ 14 ลำ โดยมีเที่ยวบินฝึกบินวันละประมาณ 200 – 300 เที่ยวบิน สามารถผลิตนักบินได้ปีละ กว่า 300 คน จึงได้มีการจัดซื้อรถดับเพลิงและรถบรรทุกน้ำมาทดแทน ซึ่งรถดับเพลิงที่นครราชสีมาเป็นรถดับเพลิงเก่าหมุนเวียนมาจากที่อื่น ซึ่งจะครบอายุ 20 ปีที่ท่าอากาศยานนครราชสีมาแห่งนี้
สำหรับท่าอากาศยานเบตง เป็นท่าอากาศยานใหม่ยังไม่เคยจัดซื้อมาก่อน ประกอบกับจำนวนรถดับเพลิงและรถบรรทุกน้ำที่มีอยู่ของกรมท่าอากาศยานปัจจุบันมีจำกัดไม่สามารถหมุนเวียนได้แล้ว โดยตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ท่าอากาศยานเบตงจัดอยู่ใน CAT 5 ซึ่งกำหนดให้ต้องมีรถดับเพลิงตามมาตรฐาน 1 คัน รวมทั้งตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 14 ว่าด้วยมาตรฐานสนามบิน ได้กำหนดรายละเอียดระดับการป้องกันการดับเพลิงและกู้ภัยสำหรับสนามบินไว้อย่างชัดเจน กรมท่าอากาศยานจึงต้องดำเนินการจัดหารถดับเพลิงที่มีความสามารถในการทำงานตามขนาดเครื่องบินที่แต่ละสนามบินจะรองรับได้และเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยานได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของทุกท่าอากาศยานอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ท่าอากาศยานทุกแห่งในสังกัดกรมท่าอากาศยานมีการดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งภารกิจของท่าอากาศยานแต่ละแห่งนอกจากจะมีการรองรับเที่ยวบินเชิงพาณิชย์แล้ว ยังต้องสนับสนุนเที่ยวบินของทางราชการ เที่ยวบินเพื่อการขนย้ายผู้ป่วย และภารกิจอื่น ๆ มากมาย ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ดังนั้น การดำเนินการของกรมท่าอากาศยานจึงคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และดำเนินงานภายใต้ระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด.-สำนักข่าวไทย