กรุงเทพฯ 27 พ.ย.- การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันนี้ มีมติให้แบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส แต่เลื่อนเวลาออกไปอีก 6 เดือน ส่วนไกลโฟเซตยกเลิกการแบน แต่จำกัดการใช้ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนมติคณะกรรมการครั้งที่แล้ว ที่ให้แบนสารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดนี้ ส่วนจะมีเหตุผลและตอบเกษตรกรว่าอย่างไร ติดตามจากรายงาน
การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายนัดแรก ตามกฎหมายใหม่ ถูกจับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4 คน นำโดยนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมด้วยอธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมประมง และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีการเสนอข้อมูลที่เป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณา
ท่ามกลางการปักหลักเฝ้าติดตามของกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการให้ยกเลิกมติกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ให้ยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส
กรรมการชุดนี้มีทั้งหมด 29 คน เข้าประชุม 24 คน หลังใช้เวลาประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมง ที่สุดมีมติเอกฉันท์ให้ยกระดับพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายนปีหน้า ส่วนไกลโฟเซต ให้จำกัดการใช้ตามมติกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 23 พฤษภาคม ปี 61 โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการเรื่องการหาสารทดแทนหรือวีธิการอื่นที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการลดผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและสุขภาพประชาชน เสนอเข้ามาภายใน4 เดือน
เมื่อเทียบกับมติกรรมการฯ ชุดที่แล้ว เมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ให้แบนทั้ง 3 สารเคมี มีผลตั้งแต่ 1 ธันวาคมนี้ นั่นหมายความว่ามติครั้งนี้ให้แบนสารเคมี 2 ชนิด พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส แต่เลื่อนออกไปอีก 6 เดือน ขณะที่ไกลโฟเซตหลุดจากการถูกแบน
ทันทีที่ทราบผล กลุ่มเกษตรกรต่างผิดหวัง เพราะสิ่งที่พวกเขาอยากเห็นคือ ยกเลิกการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ระหว่างนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการวัตถุอันตราย เดินทางลงมาจากห้องประชุม กลุ่มเกษตรกรจึงเข้าไปสอบถามถึงเหตุผลที่ยังแบน 2 สารเคมี โดยเฉพาะพาราควอต มีคำชี้แจงว่าที่เลื่อนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไป 6 เดือน เพื่อให้บริหารจัดการสตอกสารเคมีที่ยังเหลืออีกกว่า 23,000 ตันให้เสร็จสิ้น ส่วนไกลโฟเซต พบว่ายังมีอีกหลายประเทศใช้และผลกระทบน้อย
หลังได้ฟังคำตอบ กลุ่มเกษตรกรยังไม่มั่นใจว่าเมื่อครบกำหนด 6 เดือน จะมีแนวทางลดผลกระทบให้กับพวกเขาหรือไม่ ที่สำคัญจะมีสารทดแทนหรือวิธีอื่นใดที่จะนำมาใช้ทดแทนสารเคมี 2 ชนิด ที่จะถูกแบนตั้งแต่ 1 มิ.ย.ปีหน้า.-สำนักข่าวไทย