กรุงเทพฯ 27 พ.ย.-คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเลื่อนแบน พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ไปอีก 6 เดือน มีผล 1 มิ.ย.63 ส่วนไกลโฟเซต ไม่แบน ให้จำกัดการใช้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงผลการประชุมว่า คณะกรรมการมาร่วมประชุม 24 คน จาก 29 คน ได้พิจารณาข้อมูลและมีการแสดงความคิดเห็นแล้ว มีมติเอกฉันท์ให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้เลื่อน จาก 1 ธันวาคม 2562 เป็น 1 มิถุนายน 2563 ส่วนไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561
คณะกรรมการฯ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือน นับจากวันที่มีมติ
ทันทีที่ทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เกษตรกรหารือถึงท่าทีที่จะดำเนินการต่อไป ระหว่างนั้นนายสุริยะ เดินลงมา เกษตรกรจึงเจ้าไปพูดคุย สอบถามเหตุผลในการขยายการยกเลิกการใช้พาราควอต-คลอร์ไพริฟอสไปอีก 6 เดือน ซึ่งนายสุริยะ กล่าวว่า เป็นการพิจารณาตามข้อมูลที่มีการนำเสนอเข้ามาในคณะกรรมการ ส่วนเหตุผลที่ยังไม่แบนไกลโฟเซต แต่ให้จำกัดการใช้ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีอันตราย แต่เกษตรกรก็ยังคงพยายามสอบถามถึงแนวทางว่า แล้วหลังพ้น 6 เดือนไปแล้ว จะดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างไร นายสุริยะ ตอบว่า ก็ให้ ก.เกษตรฯ ไปพิจารณาแนวทางนี้ ก่อนที่จะขอตัวกลับ
ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรยังคงจับกลุ่มหารือ พูดคุยกัน ว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไรกันต่อไป จากเดิมที่จะมีการแบนในวันที่ 1 ธันวาคม แม้จะขยายเวลาออกไป ก็จะยังคงได้รับผลกระทบต่อไปอยู่ดี.-สำนักข่าวไทย
นายสุริยะ กล่าวว่า การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการพิจารณาผลกระทบต่อเนื่องจึงมีการพิจารณาเพิ่มเติมวันนี้ สำหรับสารไกลโฟเซตยังคงให้ใช้ได้ต่อไป เนื่องจาก 160 ประเทศ ยังคงใช้สารนี้ มีการห้ามใช้สารนี้เพียง 9 ประเทศเท่านั้น และหากห้ามการใช้ ก็จะส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐและบราซิลส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นายกสมาคมอาหารสัตว์ได้ระบุผลกระทบว่าหลายแสนล้านบาท เมื่อมีข้อมูลชัดเจนจึงได้แยกออกมา
ส่วนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส หากบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ทันทีตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 เวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น เกษตรกรมีสตอกสารเคมีมูลค่ารวมกว่าหมื่นล้านบาท แต่เมื่อมีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการออกมาถึงผลกระทบ จึงได้เลื่อนการบังคับใช้ออกไป 6 เดือน เพื่อให้มีเวลาเตรียมการด้านต่าง ๆ ให้พร้อม
“จุดประสงค์ของคณะกรรมการตั้งใจให้แบน โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขห่วงผลต่อสุขภาพ ทุกหน่วยราชการจึงต้องช่วยกัน เพื่อให้สามารถแบนไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีกหลัง 6 เดือนข้างหน้า” นายสุริยะ กล่าว
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการทำมาตรการต่าง ๆ และมีการศึกษานับตั้งแต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ให้จำกัดการใช้สาร 3 ตัว พร้อมให้กรมวิชาการเกษตรมารองรับและหาสารทดแทน ซึ่งยังดำเนินการ ต้องยอมรับว่าการหาสารทดแทนไม่ได้ง่ายต้องทำกระบวนการทางวิชาการจึงต้องใช้เวลาบ้าง แต่เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ระยะเวลาสั้นก็ต้องเพิ่มนอกจากหาสารทดแทนแล้วจะต้องมีวิธีการและมาตรการต่าง ๆ เข้ามาทั้งการใช้เครื่องจักรกลและอื่น ๆ ในการกำจัดวัชพืช ซึ่งจะต้องพิจารณาแยกกันแต่ละพืชและแต่ละพื้นที่ด้วย โดยสารทดแทนยังไม่แน่ใจว่าจะหาทดแทนได้ทันหรือไม่
“ทุกคนเห็นด้วยแบน 3 สารเคมี แต่วันนี้คณะกรรมการฯ พบว่าหากแบนจะเกิดผลกระทบและโกลาหลแน่ เพราะมีกระบวนการต่าง ๆ เรื่องหาสารทดแทนหามาปีเศษแล้ว ต้องยอมรับว่าพาราควอตเป็นสารที่ใช้มานาน หากพูดทั่วไปก็เหมือนกับ “ยาสามัญประจำบ้านแล้ว” สำหรับการกำจัดวัชพืช วันนี้นอกจากหาสารทดแทน ซึ่งก็มีสารที่ใช้ได้ผลใกล้เคียงกัน แต่ต้องหาวิธีการเหมือนการจัดการวัชพืชแบบผสมผสาน แต่การหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพเหมือนพาราควอตค่อนข้างจะยาก” นายอนันต์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย