ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 25 พ.ย.- อัยการมีเวลา 30 วัน พิจารณาจะอุทธรณ์คดีหรือไม่ หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางยกฟ้อง “โอ๊ค – พานทองแท้” ในคดีทุจริตปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทยให้เครืองกฤษฎามหานคร
ตัวแทนอัยการ เปิดเผย ขั้นตอนการพิจารณาคดี หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง นายพานทองแท้-โอ๊ค ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร ในคดีทุจริตปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทยให้เครือกฤดามหานคร ว่า หลังจากนี้ อัยการจะต้องคัดคำพิพากษา และเอกสารหลักฐานในสำนวน รวมทั้ง ความเห็นแย้งส่งให้คณะทำงานพิจารณา โดยจะต้องพิจารณาว่า เหตุผลในคำพิพากษาว่ารับฟังได้เพียงใด เพราะผลไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีความเห็นแย้งในองค์คณะเป็น 2 ฝ่ายด้วย แต่เหตุที่ศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อ) มาตรา 184, 185 ระบุว่า หากกรณีที่มีผลคำพิพากษาเป็น 2 ฝ่าย ไม่มีเสียงข้างมาก ก็ให้นำผลคำพิพากษาที่มีผลร้ายน้อยที่สุดกับจำเลยมาเป็นคำตัดสิน
ตัวแทนอัยการ กล่าวว่า คดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชน ดังนั้น ก็จะต้องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาอย่างรอบคอบ จะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ ต้องอธิบายและตอบคำถามบุคคลที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนได้ หากสุดท้ายตามขั้นตอนแล้ว อัยการสำนักงานคดีศาลสูงมีคำสั่งให้อุทธรณ์ หลังจากที่คณะทำงานสำนักงานสำนวนคดีชั้นต้นทำความเห็นเบื้องต้นเสนอไปแล้ว ก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้เลย แต่หากจะมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ กรณีก็ยังไม่ถือว่าเป็นที่ยุติ จะต้องแจ้งให้กรมสอบสวนพิเศษ (DSI) ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนทำคดีนี้ทราบ หาก DSI เห็นแย้ง ก็จะต้องส่งให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะอุทธรณ์หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามขั้นตอนในการยื่นอุทธรณ์คดี จะต้องยื่นภายใน 1 เดือน นับจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ซึ่งหากระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว คู่ความยังมีเหตุจำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมเอกสาร และเห็นว่าอาจจะยื่นอุทธรณ์ไม่ทันในระยะเวลาดังกล่าว ก็สามารถที่จะยื่นคำขอขยายเวลาอุทธรณ์ได้ ซึ่งศาลจะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจและมีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ขยายอุทธรณ์หรือไม่ เป็นระยะเวลาเท่าใด . – สำนักข่าวไทย