รร.ทีเคพาเลส 19 พ.ย.-กรรมการสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการ ย้ำกฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ประชาชนต้องเข้าใจ สื่อมวลชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชนต้องตระหนัก ไม่แค่ไม่นำข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลอ่อนไหว เปิดเผย แต่ต้องเคารพ และพร้อมลบข้อมูล หากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดการสัมมนาเรื่อง ความเป็นส่วนตัวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ภายใต้โครงการ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมือง ว่า ปัญหา การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ปัจจุบันมีมาก เพราะด้วยเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า ทำให้บุคคลถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว เสียทั้งความเป็นส่วนตัว และทรัพย์เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัว จึงได้เกิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี2562 ขึ้น เน้นการคุ้มครอง ทั้งสิทธิเสรีภาพ ,การปฎิบัติตามเจตนารมย์ ,สิทธิคามเป็นส่วนตัว ,สิทธิทางร่างกาย การนำข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เพราะปัจจุบันข้อมูลฐานส่วนบุคคล ไม่ว่าจะทำกับรัฐ หรือเอกชน ตั้งแต่ขอไฟฟ้า ทะเบียนราษฎร หรือแม้แต่การร่วมโครงการประมูลของเอกชน การเช่าอาคาร ข้อมูลชื่อที่อยู่ เบอร์โทร อีเมล์ สามารถค้นหาได้ทางอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ต้องการสร้างความรับรู้และตระหนัก
ด้านนายประพันธ์พงษ์ ขำอ่อน ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่า ข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคล แบ่งเป็นข้อมูลเฉพาะ ที่เป็นพื้นฐาน ชื่อที่อยู่ อีเมล์ ที่สามารถสืบค้นและพบเจอเราได้ และข้อมูลอ่อนไหว เป็นข้อมูลที่บ่งบอก ความคิดทัศนคติ ความเชื่อ เช่น ความคิดทางการเมือง รสนิยมทางเพศ ซึ่งล้วนมีผลต่อการถูกนำข้อมูลไปใช้หาประโยชน์ ในปัจจุบันพบว่าในเฟซบุ๊กมีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งตรงนี้บางประเทศนำมาสู่การเรียกร้องการปกปิดข้อมูลเพื่อความปลอดภัย เพราะเฟซบุ๊กมีการเชื่อมแอคเคาท์กับหลายบริษัท ดังนั้นกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2562 ที่จะบังคับใช้เดือน พ.ค. ปี 63 ต้องมีความรัดกุม ออกกฎหมายลูกให้รัดกุม ป้องกันข้อมูลพื้นฐาน และป้องกัน มิให้หน่วยงานหรือบริษัท นำข้อมูลของเราไปใช้ผิดประสงค์ และสามารถเปิดโอกาสให้ยินยอมถอนความจำนงแสดงข้อมูลได้ ขณะที่ประชาชน ต้องเข้าใจ หากหน่วยงานความมั่นคงมีความต้องการสืบค้นข้อมูลเราสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
นายโกศล สงเนียม ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนตัวหรือส่วนบุคคล สื่อมวลชนมักถูกจับจ้องว่าเป็นผู้ละเมิดสิทธิ ปัญหาเหล่านี้ การละเมิดสิทธิเหล่านี้ถูกยกเว้น เมื่อมีการเผยแพร่เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ขณะเดียวกันสื่อก็ต้องปฎิบัติตามกรอบจริยธรรมของวิชาชีพด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงภาพ หรือการใช้ถ้อยคำ โดยสื่อในต่างประเทศเพื่อป้องกันและปฎิบัติตามกฎหมายเคารพสิทธิคามเป็นส่วนตัว มักทำหนังสือขอรับคำยินยอมก่อนสัมภาษณ์เสมอให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เซ็นต์ เพื่อป้องกันปัญหาภายหลัง. .-สำนักข่าวไทย