กรมอนามัย 11พ.ย.-แพทย์ย้ำผู้ชอบออกกำลังกายควรประเมินร่างกายตนเองและคอยสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการออกกำลัง พร้อมแนะออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ด้วยหลัก FITT สร้างสุขภาพดี
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีชายอายุ 60 ปีเสียชีวิตภายในฟิตเนสแห่งหนึ่ง เนื่องจากยกน้ำหนัก 120 กิโลกรัมเกินกว่าที่ตัวเองจะรับไหว ซึ่งการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม เป็นความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตรายและอาจเสียชีวิตได้ในทุกกลุ่มวัย ก่อนออกกำลังกายทุกครั้งควรพิจารณาพื้นฐานของร่างกายตนเองว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ เคยออกกำลังกายชนิดนั้น ๆ มาก่อนหรือไม่ หากมีโรคประจำตัวที่ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีผลทางด้านหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกายอยู่เสมอ เช่น อาการจุกแน่นหน้าอก หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น หมดสติ เป็นต้น หากพบอาการดังกล่าวให้หยุดออกกำลังกายทันที
นพ.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า การออกกำลังกายที่เหมาะสมต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ซึ่งนอกจากจะประเมินตนเองก่อนแล้ว หลัก FITT ก็เป็นอีกหนึ่งทางปฏิบัติเพื่อสร้างสุขภาพดีประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1. F-Frequency ความถี่ในการออกกำลังกาย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือประมาณวันเว้นวัน
2. I-Intensity ความหนักในการออกกำลังกาย หนักระดับที่ร่างกายรับได้ โดยสังเกตจากอาการขณะออกกำลังกาย คือ สำหรับการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง เช่น การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ควรออกในระดับที่เหนื่อยยังพอพูดได้เป็นประโยคสั้น ๆ หรือออกกำลังกายแบบแรงต้าน เช่น การยกน้ำหนัก บอดี้เวท ควรออกในระดับที่รู้สึกตึงกล้ามเนื้อ โดยไม่ควรกลั้นหายใจขณะออกแรง และควรเพิ่มระดับความท้าทายอย่างค่อยเป็นค่อยไป
3. T-Time ระยะเวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง หรือ คาร์ดิโอ ในแต่ละครั้งควรออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไป ได้จนถึง 30 นาที หรืออาจมากกว่านั้นได้หากมีความชำนาญหรือคุ้นชินแล้ว
และ 4.T-Type ชนิดของการออกกำลังกาย แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่ แบบ ต่อเนื่อง หรือคาร์ดิโอ เช่น การเดิน การวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แบบแรงต้าน เช่น ยกน้ำหนัก บอดี้เวท และการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นส่วนต่าง ๆ เพื่อความยืดหยุ่น ลดอาการตึงรั้ง บรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ในระดับหนึ่ง
“สำหรับกลุ่มวัยทำงานและวัยสูงอายุ สามารถออกกำลังกายได้ตามหลัก FITT ทั้งแบบคาร์ดิโอและแบบแรงต้านควบคู่กันไป สัปดาห์ละ 3-5 วัน ครั้งละประมาณ 10-30 นาทีหรือมากกว่านั้นหากมีความชำนาญ โดยมีช่วงอบอุ่นร่างกาย (warm up)เพื่อเตรียมก่อนออก และช่วงชะลอ (cool down) เพื่อเตรียมหยุด และควรเพิ่มระดับความท้าทายอย่างค่อยเป็นค่อยไปและคอยสังเกตอาการผิดปกติอยู่เสมอ อย่างไรก็ดีการออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องอยู่ในระดับหนัก แต่ควรมีกิจกรรมทางกายหรือการเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม เช่น ทำงานบ้าน การเดิน หรือการปั่นจักรยานให้ได้ถึงระดับที่เหนื่อยพอพูดเป็นประโยคสั้นๆได้รวมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที ก็มีประโยชน์ต่อร่างกายได้เช่นกัน”รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย