ชาวไร่อ้อยเตรียมเสนอรัฐชะลอแบน 3 สารเคมี

กรุงเทพฯ 11 พ.ย. – สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลฯ เตรียมยื่นหนังสือรองนายกรัฐมนตรี ชะลอมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายแบน 3 สารเคมีออกไป 3-5 ปี เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีเวลาปรับตัว   


นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีคณะกรรมกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน 3 สารเคมีเกษตร  ประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป นั้น ทางสมาคมฯ จะมีหนังสือไปยังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีการชะลอมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายออกไป 3-5 ปี เพื่อให้เกษตรกรได้ปรับตัว พัฒนาชาวไร่อ้อย หาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ และมีการหารือกันถึงผลกระทบ เพราะคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน 3 สารเคมี ไม่ได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบ ต้องยอมรับว่า สารทุกอย่างมีพิษทั้งหมดเปรียบกับเหรียญสองด้าน  และขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าสารทดแทนจะเป็นสารตัวใดบ้าง อย่างไรก็ตาม หากมีมติแบน 3 สารเคมีเกษตร เชื่อว่าจะทำให้ชาวไร่เลิกปลูกอ้อย โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กถึงรายกลางที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยไม่มาก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 85 ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งหมด

นายกิตติ กล่าวถึงผลกระทบจากการแบนสารเคมีเกษตรโดยเฉพาะพาราควอตที่อาจจะเกิดขึ้นปี 2563 ทั้งระดับเกษตรกร อุตสาหกรรมแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร และการส่งออก ว่า จากการคาดการณ์ ผลผลิตจะลดลงร้อยละ 20-50 ถ้าไม่ใช้สารพาราควอตในช่วงอ้อยย่างปล้องจะทำให้อ้อยหายไปถึง 67 ล้านตันต่อปี เกษตรกรสูญเสียรายได้กว่า 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ส่วนใบและยอดซึ่งใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวลจะสูญหายไป 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7,400 ล้านบาท รวมเกษตรกรสูญเสียทั้งสิ้น 58,000 ล้านบาท 


ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปริมาณน้ำตาลทรายดิบจะหายไปประมาณ 6.7 ล้านตันต่อปี คิดเป็นรายได้ประมาณ 47,000 ล้านบาท รวมทั้งกากน้ำตาลจะหายไป 3.3 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ 10,000 ล้านบาท สร้างความเสียหายต่อการผลิตเอทานอลประมาณ 840 ล้านลิตร คิดเป็นรายได้ 18,000  ล้านบาท ขณะเดียวกันกากชานอ้อยวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวลจะหายไปไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตัน สูญรายได้ประมาณ 16,000 ล้านบาท ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้าสู่ระบบอย่างน้อย 67.4 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำทั้งปีจาก 2 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนจุฬาภรณ์ หรือเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างน้อย 6 เดือน คิดเป็นรายได้ที่หายไปอัตรา 2.7 บาทต่อหน่วย ประมาณ 182 ล้านบาท รวมภาคอุตสาหกรรมและที่เกี่ยวเนื่องสูญเสียทั้งสิ้น  92,000 ล้านบาท 

ขณะที่ผลกระทบต่อการส่งออกไปต่างประเทศ อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยพึ่งพิงรายได้จากการส่งออก คิดเป็นร้อยละ 75 ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ส่วนที่เหลือใช้ในประเทศ ปริมาณส่งออกประมาณ 10-11 ล้านตันต่อปี เหตุที่ไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ดี เพราะต้นทุนอ้อยในการผลิตน้ำตาลของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูง มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งเรื่องระยะทางและต้นทุนขนส่งต่ำกว่า แต่ปัจจุบันเกิดวิกฤติอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำมาก ทำให้ภาครัฐต้องช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเรื่องต้นทุนในส่วนของปัจจัยการผลิต ได้แก่ สารกำจัดวัชพืช ปุ๋ย เครื่องจักรตัดอ้อย ซึ่งเป็นแนวทางเดียวที่รัฐจะช่วยได้โดยไม่ขัดกับข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดห้ามสนับสนุนเงินช่วยเหลือ แต่วิกฤติเดิมไม่ทันจะแก้ไข รัฐบาลกลับประกาศแบนสารกำจัดวัชพืชพาราควอต ทางออกเดียวที่จะช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมได้ จึงอยากให้รัฐพิจารณาใหม่อีกครั้ง และต้องเร่งรีบจัดการปัญหาโดยด่วน ไม่เช่นนั้นกระทบฤดูการปลูกต่อไปของอ้อยทันที จึงเร่งรัฐหารือกับภาคอุตสาหกรรมเกษตรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 


นายเลียบ บุญเชื่อง ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า เกษตรกรต้องการให้ชะลอการแบนออกไปก่อนอย่างน้อย 1-2 ปี เพื่อทดลองสิ่งใหม่ที่จะนำมาใช้ทดแทนและติดตามประเมินผลว่ามีประสิทธิภาพในการปรับวัชพืชแตกต่างจากสารพาราควอต  การใช้พาราควอตที่ผ่านมาเกษตรกรทราบและป้องกันอยู่แล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ทำให้ต้นทุนปรับวัชพืชในไร่อ้อยสูงขึ้น เพราะการใช้แรงงานมีต้นทุนสูงกว่าและแรงงานก็ขาดแคลน นอกจากนี้ ชาวไร่อ้อยยังประสบปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำส่งผลต่อราคาอ้อยขายต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าชาวไร่อ้อยจะเลิกปลูกอ้อยจากปกติเริ่มทยอยปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแล้ว ซึ่งปีที่ผ่านมาเลิกปลูกอ้อยไปแล้วมากกว่า 200,000 ไร่ ปีนี้ก็จะเลิกปลูกเพิ่มขึ้นจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตลดลงจากไร่ละประมาณ 12-15 ตันต่อไร่ เหลือประมาณ 7-8 ตันต่อไร่ อีกทั้งยังประสบภาวะราคาอ้อยตกต่ำ และหากมีการห้ามใช้สารพาราควอตเข้ามาซ้ำเติมอีก ก็จะยิ่งทำให้ต้นทุนปราบวัชพืชเพิ่มขึ้น 

นายรังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศที่ใช้แนวทางปฏิบัติการอนุญาตใช้สารเคมีเกษตรขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น ยังใช้พาราควอตในพืชต่าง ๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย ชา กาแฟ มั่นฝรั่ง สับปะรด พืชผักผลไม้ พืชตระกูลถั่ว พืชตระกูลเบอร์รี่ โดยผลิตผลทางการเกษตรเหล่านี้นำเข้ามาบริโภคในประเทศไทย ดังนั้น การยกเลิกใช้พาราควอต จึงไม่ใช่ทางออกของภาคเกษตรกรรมและผู้บริโภคไทย 

ส่วนคำกล่าวอ้างด้านสิ่งแวดล้อมและสิ่งทดแทนพาราควอตนั้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ทั้งด้านการตกค้างในสิ่งแวดล้อมจนเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและสิ่งมีชีวิตในดินและน้ำ หรือสิ่งทดแทนพาราควอต ตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร ล้วนไม่สามารถปฏิบัติจริงได้ในทุกพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งการใช้แรงงานคน การใช้เครื่องจักร ไม่สามารถใช้ในพื้นที่โคนต้น เนิน ดินแฉะ หรือพื้นที่เกษตรที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้เครื่องจักร หรือการเสนอสารทดแทน 16 ชนิด พบว่า ทั้งหมดไม่สามารถนำมาเป็นทางเลือกหรือทดแทน พาราควอตได้ เพราะคุณสมบัติของสารแต่ละชนิดมีผลต่อพืชเศรษฐกิจต่างกัน บางชนิดไม่สามารถฆ่าวัชพืชบางชนิดได้ บางชนิดหากใช้เป็นพิษต่อพืชปลูก บางชนิดปนเปื้อนน้ำบาดาลได้ บางชนิดใช้สภาพอากาศฝนตกชุกไม่ได้ 

นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ยืนยันประเด็นด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับพาราควอต สังคมน่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเนื้อเน่าเพิ่มมากขึ้นแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับพาราควอต แต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งรายงานผลการตรวจพบพาราควอตในเลือดของหญิงใกล้คลอดและเลือดสายสะดือทารก ขาดข้อมูลที่ชัดเจนถึงการได้รับสารเคมีเกษตรกรและความผิดปกติ สอดคล้องกับรายงานทางการแพทย์จากอดีตถึงปัจจุบันยังไม่พบการเกิดพิษจากพาราควอตในกลุ่มผู้ใช้เลย นอกจากนำไปดื่มกินเพื่อฆ่าตัวตาย ที่สำคัญมีรายงานล่าสุดจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ US EPA ระบุว่า “พาราควอต” ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ไม่มีความเชื่อมโยงกับโรคพาร์กินสัน รวมทั้งข้อมูลที่กล่าวอ้างเรื่องการปนเปื้อน การตกค้างของพาราควอตไม่ชัดเจน ไม่มีนัยสำคัญทางพิษวิทยา อย่างไรก็ตาม การอบรมให้ความรู้และการปฏิบัติตนที่ถูกต้องในการใช้สารเคมีเกษตรของผู้ซื้อและใช้ เป็นสิ่งที่ดีและภาครัฐควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะสารเคมีเกษตรจำเป็นต่อกสิกรรมของไทย.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

พ่อเลี้ยงล่วงละเมิด

“ต้นอ้อ” แฉพิรุธพ่อเลี้ยงปมคลิปเสียง-DNA ส่วนเด็กอาการดีขึ้น

“ต้นอ้อ” แฉพิรุธพ่อเลี้ยงปมคลิปเสียง-DNA เชื่อ แม่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แค่เชื่อผัวเพราะลูกเคยโกหก เผย ตอนแม่รู้ความจริงว่าใครทำลูกถึงกับร้องไห้โฮโผกอดลูก ส่วนเด็ก 10 ขวบอาการดีขึ้น แต่ต้องรักษาตัวอีกหลายสัปดาห์

งานแต่งธนกร

วิวาห์ชื่นมื่น “ธนกร-แคทลีน” คนดังการเมือง-นักธุรกิจ ร่วมยินดีครึกครื้น

งานวิวาห์ “ธนกร-แคทลีน” ชื่นมื่น คนดังการเมือง-นักธุรกิจ ร่วมยินดีครึกครื้น ด้าน “ทักษิณ” ไม่ได้มาร่วม แต่ส่งของขวัญแสดงความยินดี

ทรัมป์สั่งปลด

“ทรัมป์” สั่งปลดประธานคณะเสนาธิการร่วมตามแผนปรับปรุงกลาโหม

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ออกคำสั่งในวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่นปลด พลอากาศเอก ซี. คิว. บราวน์ จูเนียร์ (Charles Quinton Brown Jr.) เป็นประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐออกจากตำแหน่ง

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผย 24-25 ก.พ.68 ไทยตอนบนอากาศแปรปรวน-พายุฝนฟ้าคะนอง

กรมอุตุฯ เผยช่วงวันที่ 24-25 ก.พ. 68 ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง รวมทั้ง กทม.-ปริมณฑล ภาคตะวันออก จะมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง

จับหนุ่มอินเดียขนเงินกว่า 15 ล้านบาท เข้าไทย

หนุ่มอินเดียหอบเงินสด 15.7 ล้านบาท เดินเท้าจากปอยเปตเข้าไทย อ้างเล่นพนันได้ เจ้าหน้าที่เร่งขยายผล หวั่นพัวพันคอลเซ็นเตอร์

โฆษกรัฐบาล นำบุกร้านขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ไหวตัวทันไม่เจออะไร

โฆษกรัฐบาล นำ สคบ.-สธ. บุกร้านลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าย่านสายไหม หลังได้รายงานลับ แต่ร้านไหวตัวทัน ปิดหนีหมดไม่เจออะไร เตรียมเสนอนายกฯ ตั้ง กก.ปราบจริงจัง เผยตัวเลขขายปีละ 5 พันล้าน อ้างเป็นสินค้าผ่านแดน แต่ปล่อยหลุดเข้าไทย

รวบหนุ่มจีนพร้อมสาวไทย เอี่ยวฟอกเงินหลอกลงทุนคริปโต

ตำรวจไซเบอร์รวบหนุ่มจีนพร้อมสาวไทย กินหรูอยู่สบาย เอี่ยวฟอกเงินขบวนการหลอกลงทุนคริปโต พบเกี่ยวพันอีก 28 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท