กรุงเทพฯ 25 ต.ค. – กลุ่มเกษตรกรคัดค้านแบนสารเคมี 3 ชนิด เตรียมร้องศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราว ชะลอการยกเลิกใช้ 3 สาร งัดหลักฐานคณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติผิดขั้นตอน ส่งผลกระทบเกษตรกรเดือดร้อน
นายสุกรรณ์ แสงวรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคมนี้ ผู้แทนเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผลจะไปร้องต่อศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต เดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้น อีกทั้งยังไม่มีมาตรการรองรับทั้งการหาสารทางเลือกที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกัน การสนับสนุนด้านเครื่องจักรกลกำจัดวัชพืช และแรงงานที่จะใช้จัดการแปลง
ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรจะนำเสนอหลักฐานต่อศาลปกครองว่า การลงมติยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดของคณะกรรมการวัตถุอันตรายผิดขั้นตอนกระบวนการ โดยนำมติของคณะทำงาน 4 ฝ่าย ซึ่งมีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมมาพิจารณา ทั้งที่กระบวนการทำงานของคณะทำงานชุดดังกล่าวขัดต่อบัญชานายกรัฐมนตรีที่ให้มีการหารือกันจาก 4 ภาคส่วน คือ รัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ซึ่งให้แสดงความคิดเห็นถึงปัญหา วิธีการและผลกระทบ เพื่อสร้างความเข้าใจกันและหาวิธีได้ แต่ในการประชุมคณะทำงานดังกล่าวมีองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบ คือ ขาดผู้แทนผู้นำเข้า ส่วนผู้แทนเกษตรกรนั้น เป็นเกษตรกรอินทรีย์ แต่ไม่มีเกษตรกรพืชเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องใช้สารเคมี 3 ชนิดร่วมให้ความเห็น
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่าการประชุมใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง คณะทำงานจึงมีมติให้ปรับสารเคมี 3 ชนิดจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 ต่อมาคณะกรรมการวัตถุอันตรายใช้ข้อเสนอจากคณะทำงาน 4 ฝ่ายมาลงมติตามข้อเสนอดังกล่าว จึงขัดกับบัญชานายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน ดังนั้น ศาลปกครองเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเกษตรกร ซึ่งหวังว่าจะมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินให้ชะลอการยกเลิกออกไป จนกว่าจะมีการนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างรอบด้าน กำหนดมาตรการรองรับที่เหมาะสม
นายสุกรรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะทำหนังสือขอเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ว่า หากไม่ให้มีการใช้สารเคมี 3 ชนิดในประเทศไทยก็ต้องห้ามนำเข้าผักผลไม้จากประเทศใช้สารเคมีดังกล่าวด้วย เช่น ผักจากจีนยังคงใช้พาราควอตเฉพาะที่ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีการนำเข้ามูลค่า 2,500 ล้านบาท โดยไม่มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารตกค้าง ผลไม้จากญี่ปุ่นใช้พาราควอตเช่นกัน ตลอดจนถั่วเหลืองและข้าวสาลีจากสหรัฐอเมริกาใช้ไกลโฟเซต ไม่เช่นนั้นจะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรและเป็นการปฏิบัติ 2 มาตรฐาน
นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่กรรมการในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นข้าราชการระดับสูงของกรมและกระทรวงต่าง ๆ ลงความเห็นยกเลิกใช้สารเคมีการเกษตร 3 ชนิด โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แต่ลงความเห็น เพราะถูกอำนาจที่เหนือกว่าครอบงำ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเกษตรกร แต่อาจทำให้เกิดความล่มสลายของภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตร เช่น การผลิตน้ำตาล การแปรรูปมันสำปะหลัง การผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยเสียหายอย่างร้ายแรง
แหล่งข่าวจากกรมวิชาการเกษตรรายงานว่า กรมวิชาการเกษตรพิจารณาความเหมาะสมในการบริหารจัดการที่ยังคงเหลืออยู่ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากการสำรวจปริมาณคงเหลือของสาร 3 ชนิด เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 พบว่า พาราควอตยังมีในประเทศไทย 13,063.69 ตัน ไกลโฟเซต 15,110.93 ตัน และคลอร์ไพริฟอส 1,694.86 ตัน รวมทั้งสิ้น 29,869.58 ตัน โดยรัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการทำลายตันละ 100,000 บาท ดังนั้น จะต้องใช้งบประมาณในการทำลายเกือบ 3,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย