กรุงเทพฯ 9 พ.ย.- นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า มองการปรากฎชื่อ “อภิสิทธิ์-สุชาติ-บวรศักดิ์” ชิงตำแหน่งประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.เป็นการโยนหินถามทาง ระบุ ชื่อ “อภิสิทธิ์” ได้รับการยอมรับจากฝ่ายค้านมากกว่า
นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ความพยายามเสนอชื่อประธานกรรมาธิการรออกมา แสดงถึงการชิงความเป็นเจ้าภาพแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับพรรคพลังประชารัฐที่มีชื่อของนายสุชาติ ตันเจริญ อาจเป็นเพราะพรรคพลังประชารัฐ มองโควต้าตำแหน่งประธานควรจะเป็น ส.ส.ของพรรค ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหรือเงื่อนไขของพรรคในการเข้าร่วมเป็นรัฐบาล ดังนั้นผู้ทีมีความเหมาะสมคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่น่าจะมีสถานะความเป็นกลางและมีประสบการณ์เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ส่วนชื่อของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะคล้ายกับการผ่าทางตัน ซึ่งนายบวรศักดิ์ มีภาพลักษณ์ของคนที่เคยร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน และมีภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่มีความสัมพันธ์กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ลักษณะข่าวที่ออกมาในขณะนี้ จึงเป็นการโยนหินถามทางว่าแต่ละฝ่ายจะตอบรับชื่อบุคคลใดมากกว่ากัน แต่ความเป็นไปได้ว่าบุคคลใดจะได้ดำรงตำแหน่งประธานนั้น ต้องขึ้นอยู่กับภาคส่วนอื่นๆอย่างฝ่ายค้านและ ส.ว.ด้วย ส่วนตัวมองว่า ฝ่ายค้านน่าจะไปได้ดีกับนายอภิสิทธิ์ แต่ฝั่ง ส.ว.น่าจะสนับสนุนนายบวรศักดิ์มากกว่า
นายสติธร กล่าวว่า หากประธานกรรมาธิการเป็นนายอภิสิทธิ์ กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นเพียงพิธีกรรมหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนายอภิสิทธิ์ที่ต้องสลัดภาพการเป็นขั้วตรงข้ามกับฝ่ายค้าน และต้องให้ ส.ว.ไว้วางใจด้วยว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้ฝั่งวุฒิสภาเสียอำนาจไป เพราะกรรมาธิการชุดดังกล่าวจะยังไม่ได้ลงรายละเอียดในรายมาตรา แต่หากประธานเป็นนายสุชาติ ก็จะลำบาก เพราะเป็นพรรคพลังประชารัฐและสถานะก็อยู่ในสภา ต้องให้นายกรัฐมนตรีสนับสนุนอย่างชัดเจน ส่วนเรื่องการยอมรับของฝ่ายค้าน ก็พอเป็นไปได้ ทั้งนี้ องค์ประกอบในกรรมาธิการก็ต้องสมดุลกันด้วย ไม่เช่นนั้น จะถูกมองเป็นเรื่องการเสียเปรียบในการลงมติ และหากนายบวรศักดิ์ เป็นประธาน ก็จะถูกมองเป็นภาพของรัฐบาลเหมือนกัน ดังนั้น ความสมดุลของกรรมาธิการจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ.- สำนักข่าวไทย