ยธ. 8 พ.ย.-เหยื่อแก๊งล่อซื้อรีดค่าปรับลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนญี่ปุ่น 300 ราย โผล่ร้องกระทรวงยุติธรรม ประสานตำรวจใช้ดุลยพินิจประกันตัวไม่ต้องวางหลักทรัพย์ ลั่นฟ้องกลับหากตำรวจร่วมขบวนการต้องเอาผิดด้วย
วันนี้ (8พ.ย.) ที่ศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข กระทรวงยุติธรรม มีบรรดาผู้เสียหายจากการถูกกลุ่มบุคคลแอบอ้างตัวแทนลิขสิทธิ์ดำเนินการล่อซื้อและจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และกรรโชกทรัพย์ นำโดยนายวรกร พงศ์ธนากุล ทนายความ นำตัวแทนผู้เสียหายที่เคยถูกจับในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ประมาณ 30 รายเข้ายื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมีนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน
นายวรกร กล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมจำนวนผู้เสียหายที่ถูกกลุ่มบุคคล แอบอ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์จับกุมข่มขู่และกรรโชกทรัพย์ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ได้ประมาณ 300 ราย แต่มีตัวแทนของผู้เสียหายประมาณ 90 รายมายื่นเรื่องร้องเรียน ซึ่งหลายรายถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่คุกคาม โดยเฉพาะในขั้นตอนการควบคุมตัวภายหลังการถูกล่อซื้อ ส่วนใหญ่ต้องจ่ายเงืนให้กับขบวนการดังกล่าวตั้งแต่ 30,000-100,000 บาท แม้บางรายจะมีลิขสิทธิ์ถูกต้องเป็นของพรีออเดอร์นำเข้าโมเดลการ์ตูนจากญี่ปุ่นก็ถูกขบวนการดังกล่าวล่อซื้อให้นำของมาส่งโดยจะเลือกตัวที่ไม่มีกล่อง รวมถึงพ่อค้าที่ขายโมเดลการ์ตูนมือสอง ก็จะถูกล่อซื้อเพื่อเรียกค่าปรับลิขสิทธิ์ในลักษณะเดียวกัน บางรายหวาดกลัวจากการถูกข่มขู่จึงยอมจ่ายเงินเพื่อยุติเรื่อง เมื่อทราบว่าเป็นขบวนการหากินจากช่องว่างทางกฎหมายจึงรวมตัวเพื่อแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากพฤติการณ์เป็นเครือข่ายเดียวกันและมีภาพถ่ายแสดงความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มบุคคลดังกล่าว
ทั้งนี้ เบื้องต้นขอให้กระทรวงยุติธรรมให้ความช่วยเหลือด้วยการประสานไปยังตำรวจเพื่อให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจประกันตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องเรียกหลักทรัพย์ เพราะมั่นใจว่าหากคดีขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล ศาลจะยกฟ้อง เนื่องจากการล่อซื้อเป็นเจตนาให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่ไม่สุจริต
ขณะที่นายสามารถ กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว เนื่องจากปัญหาการใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาหากินรีดทรัพย์จากประชาชนเกิดขึ้นมานานแล้ว จึงต้องเร่งแก้ไขเพื่อตัดวงจรของขบวนการดังกล่าว ซึ่งกระทรวงยุติธรรมมีกองทุนยุติธรรมพร้อมให้ความช่วยเหลือทั้งค่าทนายความและหลักทรัพย์ประกันตัว
ผู้เสียหายรายหนึ่งที่ถูกกรรโชกทรัพย์ กล่าวว่า มีอาชีพเสริมขายโมเดลการ์ตูนลิขสิทธิ์แท้ซึ่งเป็นของหิ้วนำเข้ามาครั้งละ 1-2 ตัว โดยโพสต์ขาย ออนไลน์ ต่อมามีผู้สั่งสินค้าติดต่อซื้อโดยให้นำของที่มีอยู่ทั้งหมดมาส่งที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เมื่อส่งมอบสินค้าซึ่งมีแค่ 2 ตัว ก็มีกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ไม่พอใจว่าทำไมมีเพียง 2 ตัว และนำตนไปยัง สภ.ปากเกร็ดข่มขู่ กรรโชกทรัพย์ พร้อมใช้อุปกรณ์สำนักงานของโรงพักทุกอย่างโดยอ้างว่าตำรวจติดภารกิจอื่นจึงต้องสอบสวนแทนและยังแยกพ่อของตนไปสอบสวนอีกห้องหนึ่ง แต่โชคดีที่ร้อยเวรคนหนึ่งกลับมาเห็นเหตุการณ์ จึงรับแจ้งความ ทำสำนวนและให้ไปสู้คดีกันในชั้นศาล ซึ่งกรณีของตนบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นก็ยืนยันว่าเป็นโมเดลแท้ จึงอยากออกมาใช้สิทธิฟ้องกลับบุคคลที่แอบอ้างเพื่อไม่ให้คนอื่นตกเป็นเหยื่อของคนที่ถูกกระทำ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวบ้านที่ถูกหลอกลวงลงทุนแชร์ลูกโซ่รูปแบบปลูกไม้กฤษณา จากหลายจังหวัดภาคกลางและภาคอีสาน มายื่นหนังสือร้องขอความช่วยเหลือจากศูนย์ยุติธรรมสร้างสุขด้วย เนื่องจากถูกบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ชักชวนให้ลงทุนไม้กฤษณา ซึ่งจัดงานออกบูธที่งานมันนี่ เอ๊กซ์โป เมื่อปี2555 และมีพนักงานขายมาชักชวน โดยเริ่มลงทุนขั่นต่ำ 25 ต้น ลงทุน150,000 บาท จะได้เงินตอบแทนในเวลา 7 ปี เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท แต่เมื่อถึงเวลาชำระเงิน บริษัทก็บ่ายเบี่ยง และไม่จ่ายในที่สุด โดยอ้างว่าต้นไม้ที่ลงทุนไปเติบโตไม่ได้ขนาด โดยขณะนี้มีผู้เสียหายประมาณ 100 คน วงเงินทุนประมาณ 100 ล้าน.-สำนักข่าวไทย