กรุงเทพฯ 31 ต.ค. – กลุ่มเกษตรกรพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด รุกหนักขอพบนายกฯ เร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด ก่อนถึงฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ทวงสัญญากระทรวงอุตสาหกรรรมรับปากจะหามาตรการรองรับความเดือดร้อนของเกษตรกร
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดขอเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรพืชเศรษฐกิจไม่ให้เกิดผลกระทบจากการยกเลิกสารเคมีการเกษตร 3 ชนิดให้ทันก่อนฤดูกาลปลูกใหม่ที่จะมาถึง พร้อมกันนี้ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากเห็นว่าขัดบัญชาของนายกรัฐมนตรีที่ให้คณะทำงาน 4 ฝ่าย หารือและรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมี 3 ชนิด แต่กระทรวงเกษตรฯ ไม่เปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เข้าให้ข้อมูลแม้แต่รายเดียว สำหรับการลงมติยกเลิกของคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ไม่มีความชัดเจน ว่า ข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาครบถ้วนตามหลักวิชาการหรือไม่ อีกทั้งผลการพิจารณาลงมติแตกต่างจากครั้งก่อนหน้าที่ให้จำกัดการใช้ โดยไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใหม่ใด ๆ อีกมีข้อสงสัยว่าการดำเนินการดังกล่าวถูกต้องตามหลักกระบวนการอันควรแห่งกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากตั้งแต่การนำเสนอข้อมูลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย จากนั้นมีการประชุมเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น แล้วลงมติยกเลิกสาร 3 สารทันที จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้เข้าพบ เพื่อหารือโดยเร็ว
นอกจากนี้ ยังทำหนังสือถึงนายภานุวัฒน์ ตรียางกูรศรี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า เกษตรกรพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไม้ผลสับสนในมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ให้เปลี่ยนสถานะของสาร 3 ชนิด จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งต่างไปจากมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ให้ดำเนินการมาตรการจำกัดการใช้ โดยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเกษตรกรเห็นว่า ยังไม่มีการจัดเตรียมมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นอย่างกระทันหันในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 เรื่อง “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4” ก็มีเนื้อหาเพียงแค่ 1 หน้ากระดาษ ไม่ได้นำเสนอถึงเหตุผลที่ใช้ประกอบในการพิจารณาลงมติอย่างรอบด้านและครบถ้วน จึงเรียกร้องให้เปิดเผยรายงานและเอกสารประกอบการประชุมวันที่ 22 ตุลาคมทั้งหมดภายใน 7 วัน
“หากไม่มีหลักฐานทางวิชาการแตกต่างออกไปจากเดิม ด้วยเหตุใดประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงวินิจฉัยให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายดำเนินการลงมติ หรือหากมีหลักฐานทางวิชาการที่แตกต่างจากเดิม เพราะเหตุใดจึงเร่งรัดลงมติวันดังกล่าว โดยไม่มีขั้นตอนการพิจารณาหลักฐานเหล่านั้นโดยผู้เชี่ยวชาญ” นายสุกรรณ์ กล่าว
นายสุกรรณ์ กล่าวว่า ยังทำหนังสือถึงนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้กล่าวต่อกลุ่มเกษตรกร หลังการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีความห่วงใยต่อกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมติดังกล่าวและสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาถึงผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องนำเสนอเพื่อกำหนดมาตรการรองรับ โดยจะรับฟังเกษตรกร จึงขอให้ชี้แจงว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีขอบเขตการดำเนินงานและอำนาจหน้าที่อย่างไร มีขั้นตอนการดำเนินงาน และกรอบระยะเวลาการดำเนินงานเท่าไร ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานใดบ้าง ประสงค์ที่จะให้สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เข้าชี้แจงข้อมูลในวัน เวลา และสถานที่ใด
นายสุกรรณ์ ยังกล่าวถึงงานประชุมวิชาการที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะจัดขึ้นวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งในกำหนดการระบุว่าจะมีพิธีแสดงความยินดีต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีมติยกเลิกสารเคมี 3 ชนิด โดยส่งหนังสือเชิญมายังสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรให้ส่งผู้แทนเข้าร่วมงาน 3 คน แต่ทางสมาคมฯ แจ้งกลับไปว่า ผู้แทนเกษตรกรขอเข้าร่วมงาน 500 คน เพื่อสังเกตการณ์ในพิธีแสดงความยินดีดังกล่าว แต่ตนไม่ทราบว่ากรมควบคุมโรคยกเลิกการจัดงานไปแล้วหรือไม่ หากยังคงจัดผู้แทนเกษตรกรจะยกขบวนไปร่วมงานแน่นอน.-สำนักข่าวไทย