ศาลปกครอง 28 ต.ค.-เครือข่ายเกษตรกรยื่นฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย,คณะกรรมการแก้ปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และ รมว.สธ.ในความผิดฐานเลือกปฏิบัติกรณีแบน 3 สารเคมี ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ โดยขอให้ศาลพิกถอนมติแบน 3 สารเคมี และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดไปก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
น.ส.อัญชุลี รักษ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเกษตรกร จาก 6 จังหวัด จำนวน 1,091 คน ประกอบด้วย สมุทรสาคร สุพรรณบุรี ราชบุรี จันทบุรี ระยอง นครราชสีมา ซึ่งประกอบอาชีพปลูกผลไม้และพืชไร่ อาทิ มันสำปะหลัง อ้อย เดินทางมาที่ศาลปกครองเพื่อยื่นฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย คณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรมในการมีมติแบนสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จนทำให้เกษตรได้รับผลกระทบ สร้างภาระให้แก่เกษตรกรเกินควร และความผิดฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากไม่มีมาตรการใด ๆ มารองรับผลกระทบที่เกิดเขึ้น เป็นการละเมิดสิทธิ์ต่อเกษตรกรทั่วประเทศ
โดยเครือข่ายเกษตรกร ขอให้ศาลพิจารณามีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนกฏหรือคำสั่งของคุณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ให้ระงับ ผลิต จำหน่ายนำเข้า ครอบครอง การใช้พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ให้กลับไปเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 เช่นเดิม และขอให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งการกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานในสังกัด กำหนดแผนมาตรการรองรับหรือแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรไม่ให้ได้รับผลกระทบจากมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยเฉพาะการกำหนดสารทดแทนที่มีราคาใกล้เคียงกันกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิดที่ถูกแบน รวมทั้งขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี กำหนดแนวทางบริหารจัดการสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสในทางเกษตรในประเทศไทยเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้เกษตรกรสามารถใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต่อไปก่อน จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยกำหนดมาตรการใด ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร
น.ส.อัญชุลี กล่าวว่า ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ได้แนบเอกสารหลักฐาน 105 หน้า รวม 11 ประเด็นที่เกี่ยวข้องไปกับพร้อมกับคำฟ้อง อาทิ เอกสารงานวิจัยการตรวจสอบสารเคมี 3 ชนิด ผลการตรวจสารตกค้างสารเคมีในพืชผักผลไม้ ซึ่งงานวิจัยที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่เป็นที่ยอมรับ ขณที่สารทดแทน เช่น กลูโฟซิเนต มีราคาแพงกว่าพาราควอต 5 เท่า และหลังจากนี้เตรียมเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนการทำงานของคณะทำงาน 4 ฝ่ายที่มีมติแบน 3สารเคมี ซึ่งตั้งขึ้นตามบัญชานายกรัฐมนตรี อาจเป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ของนายกรัฐมนตรีที่ให้หารือสร้างความเข้าใจร่วมกันเท่านั้น ไม่ใช่การมีมติแบน.-สำนักข่าวไทย