กรุงเทพฯ 31 ธ.ค.- ผู้ตรวจการแผ่นดิน เร่งรัดแบน 3 สาร เมื่อครบกำหนด 1 ม.ค.63 ยอมรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถขอขยายเวลาได้ แต่ต้องมีเหตุผล อย่าอ้างเวลา ชี้ขอขยายระยะเวลาอีก จะส่งเรื่องให้องค์กรอิสระลงโทษทางวินัยอาญา และแพ่ง
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เลื่อนแบน 3 สารพิษออกไปเป็นเดือน มิ.ย. 2563 ขณะที่ผู้ตรวจฯ มีมติให้แบน 3 สาร คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 ว่า เรื่องดังกล่าวมีเวลา 13 เดือนในการเตรียมการ ถ้ารัฐบาลและหน่วยงานรัฐไปดำเนินการตามขั้นตอนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินให้คำแนะนำไปก็จะไม่เกิดผลเสียหายเช่นนี้ และหากหน่วยงานใดที่ยังไม่สามารถแบนการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดได้จะต้องส่งเหตุผลมาให้พิจารณาว่าเพียงพอต่อการขอเลื่อนและขยายเวลาออกไปหรือไม่
“ซึ่งเป็นสิทธิของผู้บริโภคจะรู้ว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วเป็นอันตราย และต้องรับผิดชอบสุขภาพของตัวเอง ทางผู้ตรวจฯก็จะหารือกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ ที่จะต้องดูเรื่องการปิดฉลากผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง ผลิตภัณฑ์ใดใช้สารเคมีก็ต้องแจ้งรายละเอียดให้ทราบ ทั้งนี้การดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรที่มีการวิจัยการหาสารชีวพันธุ์ในแต่ละปีดำเนินการไปถึงไหน ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ผู้ตรวจฯจะขอความร่วมจากองค์อิสระอื่น เช่น สตง. ที่จะช่วยผู้ตรวจฯตรวจการใช้งบประมาณผลการทำงานในการใช้งบประมาณคุ้มค่าหรือไม่ และที่สำคัญได้ขอรายงานที่ประชุมของคณะกรรมการฯ 2 ครั้งที่ผ่านมา คือ 22 ตุลาคม และ 27 พฤศจิกายน เพื่อมาพิจารณาว่าได้มีการดำเนินการด้วยความรอบคอบอย่างไร ซึ่งจะครบกำหนด 30 วัน ในเดือนมกราคม 2563” พล.อ.วิทวัสกล่าว
ส่วนการแบน 3 สารพิษมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยดูเป็นการกดดันรัฐบาล ถ้าเป็นเช่นนี้มองว่าโอกาสที่จะแบนสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ในเมื่อพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสมีแนวโน้มที่จะแบนได้ แต่ต้องดูว่ากระบวนการที่นำไปสู่การแบนเป็นอย่างไร ซึ่งมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการขยายการแบนถึงเดือน มิ.ย. โดยก่อนหน้านี้มีเสียงคัดค้านคงเกรงว่าปริมาณสารพิษที่มีอยู่ในมือผู้นำเข้าหรือเกษตรกรจะทำลายอย่างไร ซึ่งเห็นว่าตั้งแต่ที่มีการออกมติดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรต้องไปควบคุมให้ดีเมื่อถึง มิ.ย.2563 แล้วต้องมีคำตอบ ไม่ใช่มาขอต่อรองอยู่เรื่อย
“การควบคุมไกลโฟเซต ถ้าถึงกำหนดแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขอขยายระยะเวลาอีก ผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีอำนาจที่จะส่งต่อไปยังองค์กรอิสระอื่นที่ลงโทษทางวินัยอาญา และแพ่ง ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ประสงค์จะไปใช้อำนาจเช่นนั้น ต้องการให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอยู่ในขอบเขต ไม่สร้างความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับองค์กรอิสระ พร้อมทั้งหวังว่า คำวินิจฉัยที่ออกไปแล้ว ถือว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้ช่วยทำงาน ส่วนการที่จะเอากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต.มาร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจการใช้สารพิษแต่ละพื้นที่ ซึ่งคนเหล่านี้อยู่ด้วยความเป็นพี่เป็นน้องมีความสัมพันธ์ในชุมชน จึงไม่มีทางไปตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมายเป็นหน้าที่ของหน่วยงานจะเอาคนเหล่านี้ไปช่วยตรวจสอบคงทำไม่ได้”พล.อ.วิทวัสกล่าว.-สำนักข่าวไทย